วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Dutiyapārājikasikkhāpada

2.Dutiyapārājikasikkhāpada 

ห้ามภิกขุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้

Dutiyapārājikasikkhāpada

(สิกขาบท: ทุติยปาราชิกะ)
ปาราชิกสิกขาบทที่ 2
ขาดความเป็นภิกขุเพราะลักขโมย

“Yo pana bhikkhu gāmā vā araññā vā adinnaṃ theyyasaṅkhātaṃ ādiyeyya, yathārūpe adinnādāne rājāno coraṃ gahetvā haneyyuṃ vā bandheyyuṃ vā pabbājeyyuṃ vā— ‘corosi bālosi mūḷhosi thenosī’ti, tathārūpaṃ bhikkhu adinnaṃ ādiyamāno ayampi pārājiko hoti asaṃvāso”ti. (2:2)
Mahāsaṅgīti Tipiṭaka Buddhavasse 2500
1V:210-210 Creative Commons License

โย ปะนะ ภิกขุ คามา วา อะรัญญา วา อะทินนัง…

“อนึ่ง ภิกขุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว ประหารเสียแล้ว จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้างด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย ดังนี้ ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด ภิกขุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกขุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.”
วิภังค์ (จำแนกความ)

ที่ชื่อว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ มีอธิบายว่า ทรัพย์ใดอันเจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ได้ละวาง ยังรักษาปกครองอยู่ ยังถือกรรมสิทธิ์อยู่ว่าเป็นของเรา ยังมีผู้อื่นหวงแหน ทรัพย์นั้นชื่อว่าทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้

บทว่า ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ได้แก่ มีจิตคิดขโมย คือมีจิตคิดลัก.

บทว่า ถือเอา คือ ยึดเอา เอาไป เอาลง ยังอิริยาบถให้กำเริบ ให้เคลื่อนจากฐาน ให้ล่วงเลยเขตหมาย.
ที่ชื่อว่า เห็นปานใด คือ หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี

คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้นแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใดภิกขุก็ฉันนั้นแหละ ถือเอาทรัพย์อันเขาไมได้ให้ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี แล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นการ กระทำผิดตามสิกขาบทดังกล่าวจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก

อนาบัติ

1.ภิกขุมีความสำคัญว่าเป็นของตน 2.ถือเอาด้วยวิสาสะ 3.ขอยืม 4.ทรัพย์อันเปรตหวงแหน 5.ทรัพย์อันสัตว์ดิรัจฉานหวงแหน 6.ภิกขุมีความสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล 7.ภิกขุวิกลจริต 8.ภิกขุอาทิกัมมิกะ เหล่านี้ ไม่ต้องอาบัติ.

เรื่องต้นบัญญัติ

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์. ครั้งนั้นภิกขุหลายรูปที่เป็นมิตรสหายกันได้ทำกุฎีหญ้า อยู่จำวัสสาข้างภูเขาอิสิคิลิ. ท่านพระธนิยะ ผู้เป็นบุตรแห่งช่างหม้อ ก็ทำกุฎีหญ้า จำวัสสาอยู่ ณ ที่นั้นด้วย. ภิกขุอื่น ๆ เมื่อออกวัสสาก็รื้อกุฎีหญ้า เก็บหญ้า เก็บไม้ แล้วจาริกไปสู่ชนบท.ส่วนพระธนิยะคงอยู่ในที่นั้นไม่ไปไหนตลอด 3 ฤดู ขณะที่เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน พวกคนเก็บหญ้า เก็บไม้ มารื้อกุฎี นำหญ้าและไม้ไป ท่านต้องทำใหม่ แต่พวกนั้นก็มารื้อ ขโมยหญ้าและไม้ไปอีกถึง 3 ครั้ง ท่านพระธนิยะจึงคิดสร้างกุฎีดิน เพราะเป็นผู้ชำนาญในการผสมดินปั้นหม้อมาก่อน เมื่อตกลงใจดังนั้นจึงเอาดินเหลวมาขยำ แล้วทำเป็นกุฎีดินล้วนเอาหญ้าไม้และมูลโคมาสุมกุฏีที่ทำไว้แล้วให้เป็นกุฏี ดินเผาสวยงาม มีสีแดงดั่งตัวแมลงทับ ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จทอดพระเนตรเห็นกุฏีงดงาม ตรัสถามพวกภิกขุว่าเป็นอะไร ทรงทราบแล้วทรงติเตียนว่า

“ไฉนโมฆบุรุษนั้นจึงได้ขยำโคลนทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วนด้วยตนเองเล่า ดูก่อนภิกขุทั้งหลาย ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความไม่เบียดเบียนหมู่สัตว์ มิได้มีแก่โมฆบุรุษนั้นเลย พวกเธอจงทำลายกุฎีนั้น พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลัง อย่าถึงความเบียดเบียนหมู่สัตว์เลย อันภิกขุไม่ควรทำกุฎีที่สำเร็จด้วยดินล้วน ภิกขุใดทำต้องอาบัติทุกกฏ.”

กาลต่อมาท่านพระธนิยะ เข้าไปหาคนเฝ้าโรงเก็บไม้ของหลวง เล่าความให้ฟังถึงเรื่องที่คนรื้อกุฎีหญ้า ขโมยหญ้าและไม้ไปถึง 3 ครั้ง ท่านจึงคิดทำกุฎีดินเผา ก็ถูกสั่งให้ทำลายเสีย จึงมาขอไม้จากคนเฝ้าโรงเก็บไม้ของหลวง คนเฝ้าปฏิเสธว่า “ตนไม่มีไม้ที่จะให้ได้ มีแต่ไม้ที่เป็นของพระราชาหวงแหน เพื่อใช้ซ่อมพระนคร เก็บไว้ในคราวมีอันตราย ถ้าพระราชาพระราชทาน ก็นำไปได้.”

พระธนิยะตอบว่า “พระราชาพระราชทานแล้ว” คนเฝ้าโรงไม้เชื่อว่าเป็นพระคงไม่พูดปด จึงอนุญาตให้นำไป ท่านพระธนิยะก็นำไม้มาตัดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยใส่เกวียนขนไปทำกุฎีไม้.
เมื่อวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่แห่งมคธรัฐ มาตรวจพบว่าไม้หายไป จึงไต่สวน แล้วนำความกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร มีรับสั่งให้นำตัวคนเฝ้าโรงไม้เข้าไปเฝ้า เขาจึงถูกมัดนำตัวไป ท่านพระธนิยะเห็นคนเฝ้าไม้ถูกมัด นำตัวไป จึงสอบถามได้ความแล้ว ก็ตามไปด้วย.

พระเจ้าพิมพิสารถวายนมัสการท่านพระธนิยะ แล้วตรัสถามว่า “เป็นความจริงหรือที่ว่า พระองค์ถวายไม้นั้น” ท่านพระธนิยะตอบว่า “เป็นความจริง” พระเจ้าพิมพิสาร ตรัสว่า พระองค์เป็นพระราชา มีกิจธุระมาก ถวายไปแล้ว อาจนึกไม่ออกก็ได้ ถ้าท่านพระธนิยะนึกออกก็ขอให้ชี้แจงมา.

ท่านพระธนิยะทูลถามว่า “ทรงระลึกได้หรือไม่ ที่ทรงเปล่งวาจาในวันอภิเษกเสวยราชย์ว่า หญ้า ไม้ และน้ำ เป็นอันข้าพเจ้าถวายแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ขอจงใช้สอยเถิด” ตรัสตอบว่าทรงระลึกได้ แต่ที่ตรัสอย่างนั้น ทรงหมายสำหรับสมณพราหมณ์ ผู้มีความละอาย ผู้มีความรังเกียจใคร่ต่อการศึกษา ผู้เกิดความรังเกียจแม้ในความชั่วเพียงเล็กน้อย และทรงหมายถึงสิ่งของที่ไม่มีใครหวงแหนในป่า ท่านถือเอาไม้ที่มิได้ให้ด้วยเลศนี้ คนอย่างพระองค์จะพึงฆ่า จองจำหรือเนรเทศ สมณะหรือพราหมณ์ได้อย่างไร? ท่านจงไปเถิด ท่านพ้นเพราะเพศ (บรรพชิต) ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก.

มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียนด้วยประการต่าง ๆ ความทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวน เมื่อพระธนิยะ รับเป็นสัตย์แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า

“ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน เธอจึงได้ถือเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไปเปล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว”

ทรงตรัสถามภิกขุผู้เคยเป็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษา ซึ่งเข้ามาบวชว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงจับโจรได้แล้วทรงประหารชีวิต จองจำหรือเนรเทศด้วยกำหนดทรัพย์เท่าไร? ก็เท่ากับ 5 มาสก จึงทรงบัญญัติสิกขาบทมิให้ภิกขุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ ผู้ใดทำเช่นนั้น ได้ราคาที่พระราชาจับโจรได้ประหารชีวิต จองจำ หรือเนรเทศ ต้องอาบัติปาราชิก.

อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)

สมัยนั้น ภิกขุฉัพพัคคีย์(พวก 6 คือเป็นพวกร่วมใจกัน 6 รูป) ไปที่ลาน(ตากผ้า) ของช่างย้อม ขโมยห่อผ้าของช่างย้อมนำมาแบ่งกัน ความทราบถึงภิกขุทั้งหลาย เธอแก้ตัวว่า ไปลักในป่า ไม่ได้ลักในบ้าน สิกขาบทที่บัญญัติมุ่งหมายถึงลักในบ้าน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่าลักของจากบ้านก็ตาม จากป่าก็ตาม.

องค์แห่งอาบัติ

1.เป็นของผู้อื่นเป็นชาติมนุษย์หวงแหนอยู่
2.สำคัญรู้ว่า เป็นของผู้อื่นหวงอยู่
3.ของนั้นราคาบาทหนึ่งหรือราคากว่าบาทหนึ่งขึ้นไป
4.จิตเป็นขโมย
5.ลักได้ด้วยอวหาร (อาการที่ถือว่าเป็นลักทรัพย์) อย่างใด อย่างหนึ่ง

พร้อมด้วยองค์ 5 นี้ จึงเป็นปาราชิก (บุพพสิกขาวรรณนา หน้า 124).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น