วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภิกขุวิภังค์ ภาค 1 เวรัญชกัณฑ์

คัมภีร์ภิกขุวิภังค์
ภิกขุวิภังค์ ภาค 1 (พระวินัยปิฎก เล่ม 1)

เวรัญชกัณฑ์

เหตุให้พรหมจริยาตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โคนไม้สะเดาใกล้เมืองเวรัญชาพร้อมด้วยภิกขุสงฆ์หมู่ใหญ่.
เวรัญชพราหมณ์ได้ทราบกิตติศัพท์สรรเสริญ จึงเข้าไปเฝ้าแต่มิได้ถวายบังคม หลังจากทักทายปราศรัยแล้ว ก็ได้กล่าวว่า ได้ข่าวเขาพูดว่า พระสมณโคดมไม่ยอมไหว้หรือลุกขึ้นต้อนรับพราหมณ์ผู้สูงอายุ การที่พระสมณโคดมทำเช่นนั้น ย่อมไม่สมควร พระพุทธเจ้าตรัสรับว่า พระองค์มิได้ไหว้พราหมณ์ผู้สูงอายุจริง เวรัญชพราหมณ์ จึงกล่าววาจารุกรานด้วยถ้อยคำที่ถือกันในสมัยนั้นว่า เป็นคำพูดหมิ่นเหยียดหยามรวม 8 ข้อ เช่น คำว่าพระสมณโคดมเป็นคนไม่มีรสชาติ, เป็นคนไม่มีสมบัติ, เป็นคนนำให้ฉิบหาย, เป็นคนเผาผลาญ เป็นต้น.  แต่พระผู้มีพระภาคทรงอธิบายคำเหยียดหยามนั้นไปในทางดี เช่นว่า ใครจะว่าไม่มีรสชาติก็ถูก เพราะท่านไม่ติดในรส คือ รูป เสียง เป็นต้น ใครจะว่าไม่มีสมบัติก็ถูก เพราะท่านไม่ติดสมบัติ คือ รูป เสียง เป็นต้น ใครจะว่า นำให้ฉิบหายก็ถูกเพราะท่านแสดงธัมม์ทำให้บาป อกุศล ทุกอย่างให้ฉิบหาย ใครจะว่าเป็นคนเผาผลาญก็ถูก เพราะท่านเผาผลาญบาป อกุศลอันเป็นที่ตั้งแต่งความเดือดร้อนทั้งหมด.

เมื่อตรัสตอบ แก้คำดูหมิ่นเหยียดหยามของพราหมณ์ตกทุกข้อโดยไม่ต้องใช้วิธีด่าตอบ หากใช้วิธีอธิบายให้เป็นธัมมสอนใจได้ดังนั้นแล้ว จึงตรัสอธิบายเหตุผลในการที่พระองค์ไม่ไหว้พราหมณ์ผู้สูงอายุ โดยเปรียบเทียบว่าลูกไก่ตัวไหนเจาะฟองไข่ออกมาได้ก่อน ลูกไก่ตัวนั้นควรนับว่าแก่กว่าลูกไก่ตัวอื่น พระองค์เจาะฟองไข่ คือ อวิชชาก่อนผู้อื่น จึงถือได้ว่าเป็นผู้แก่กว่าผู้อื่น. เวรัญชพราหมณ์ได้ฟังก็เลื่อมใส ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วกราบทูลอาราธนาให้ทรงจำพรรษาอยู่ในเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกขุสงฆ์ พระองค์ทรงรับโดยดุษณีภาพ.

ทรงสรรเสริญเหล่าภิกขุว่าเป็นผู้ชนะ แม้จะยากลำบาก ก็ไม่ทิ้งธัมม์

ในสมัยนั้น เมื่องเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย หาอาหารได้ยาก ถึงขนาดต้องใช้สลากปันส่วนอาหาร ผู้คนล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อน. ภิกขุทั้งหลายลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต ได้อาศัยข้าวตากสำหรับเลี้ยงม้าจากพ่อค้าม้าที่พักแรมฤดูฝน ณ เมืองนั้น วันละ 1 ฝายมือต่อรูปมาตำให้ละเอียดฉัน พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญเหล่าภิกขุว่าเป็นผู้ชนะ (แม้จะยากลำบาก ก็ไม่ทิ้งธัมม์แสวงหาในทางที่ผิด เป็นตัวอย่างแก่หมู่ภิกขุในภายหลัง)     พระโมคคัลลานะ เสนอวิธีแก้ไขความอดอยากหลายประการ รวมทั้งการไปเที่ยวบิณฑบาตในที่อื่นแต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต.

เหตุที่ทำให้พรหมจริยา(พระศาสนา) ตั้งมั่น หรือ ไม่ตั้งมั่น

ส่วนพระสารีบุตร คำนึงถึงความตั้งมั่นแห่งพรหมจริยา จึงกราบทูลถามถึงเหตุที่ทำให้พรหมจริยาตั้งมั่น และไม่ตั้งมั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสแสดงว่า

" ดูก่อนสารีบุตร พระผุ้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธัมม์โดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธัมม์ เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ดูก่อนสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้าย ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ ซึ่งดอกไม้เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้นเหมือนกัน”

และตรัสว่า การไม่ทำดังนั้นเป็นเหตุให้พรหมจริยาดำรงอยู่ไม่นาน. ทูลขอให้บัญญัติสิกขาบทแสดงปาติโมกข์เพื่อความตั้งมั่นแห่งพรหมจริยา   พระสารีบุตรจึงกราบทูลขอให้ทรงบัญญัติสิกขาบท เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระศาสนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“จงรอก่อน สารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้กาลในกรณีย์นั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธัมม์อันเป็นที่ตั้งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้  

ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โตเพราะตั้งมานาน…

ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โตเพราะแผ่ไปเต็มที่…

ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เพราะเจริญด้วยลาภ…

และอาสวัฏฐานนิยธัมม์บางเหล่า ย่อมปรากฎในสงฆ์ในศาสนานี้   เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกเพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธัมม์เหล่านั้นแหละ.

ดูก่อนสารีบุตรก็ภิกขุสงฆ์ไม่มีเสนียด ก็ล้วนไม่มีโทษ ปราศจากมัวหมองบริสุทธิ์ผุดผ่องตั้งอยู่ในสารคุณ เพราะบรรดาภิกขุ 500 รูปนี้ ภิกขุที่ทรงคุณธัมม์อย่างต่ำ ก็เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธัมม์ดาเป็นผู้ไม่เที่ยง เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.”

เมื่อออกพรรษาแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงชวนพระอานนท์ไปบอกเวรัญชพราหมณ์ ในฐานะผู้นิมนต์ให้จำพรรษา เวรัญชพราหมณ์ นิมนต์พระองค์พร้อมทั้งภิกขุสงฆ์ฉันในวันรุ่งขึ้น ทรงรับนิมนต์และไปฉันตามกำหนดแล้วแสดงธัมม์โปรดเวรัญชพราหมณ์ แล้วเสด็จจาริกไปสู่เมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสส์ เมืองกัณณกุชชะ โดยลำดับ เสด็จข้ามลำน้ำคงคาที่ชื่อปยาคะ ไปสู่กรุงพาราณสี จากพาราณสีสู่เวสาลี ประทับ ณ เรือนยอดในป่ามหาวัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น