วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

1.Pārājikapāḷi ปาราชิกะปาฬิ

1.Pārājikapāḷi ปาราชิกะปาฬิ

ว่าด้วยอาบัติปาราชิก(ผู้พ่ายแพ้) มี 4 สิกขาบท
ละเมิดเข้าแล้วต้องขาดจากความเป็นภิกขุ แม้สึกไปแล้วจะมาบวชใหม่อีก ก็ไม่ได้

1.Paṭhamapārājikasikkhāpada ห้ามภิกขุเสพเมถุน

Paṭhamapārājikasikkhāpada
(สิกขาบท: ปฐมปาราชิกะ)
ปาราชิกสิกขาบทที่ 1
ขาดจากความเป็นภิกขุเพราะเสพเมถุน
โย ปะนะ ภิกขุ ภิกขูนัง สิกขาสาชีวะสะมาปันโน…

“Yo pana bhikkhu methunaṃ dhammaṃ paṭiseveyya, pārājiko hoti asaṃvāso”ti.
Mahasangīti Tipiṭaka Buddhavasse 2500
1V:72 – 1V:72
Creative Commons License

“อนึ่ง ภิกขุใดถึงพร้อมซึ่งสิกขาบทและสาชีพของภิกขุทั้งหลายแล้ว ไม่บอกคืนสิกขาไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธัมม์โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียเป็นปาราชิกหาสังวาสมิ ได้.”

วิภังค์ (จำแนกความ)

คำว่า ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง ทรงอธิบายไว้ว่า ภิกขุทั้งหลาย การทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาไม่เป็นอันบอกคืนก็มี ภิกขุทั้งหลาย การทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาเป็นอันบอกคืนก็มี. ภิกขุในธัมมวินัยนี้ กระสัน ไม่ยินดี ใคร่จะเคลื่อนจากความเป็นสมถะ อึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความเป็นภิกขุ ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ ปรารถนาความเป็นอุบาสก ปรารถนาความเป็นอารามิก ปรารถนาความเป็นสามเณร ปรารถนาความเป็นเดียรถีย์ ปรารถนาความเป็นสาวกเดียรถีย์ ปรารถนาความเป็นผู้มิใช่สมณะ ปรารถนาความเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร ย่อมกล่าวให้ผู้อื่นทราบว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระพุทธเจ้า …ดูก่อนภิกขุุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าการทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาก็เป็นอันบอกคืน…

ขอท่านจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์…ข้าพเจ้าจะต้องการอะไรด้วย พระพุทธเจ้า…ข้าพเจ้าไม่ต้องการด้วยพระพุทธเจ้า…ข้าพเจ้าพ้นดีแล้วจากพระ พุทธเจ้า…ภิกขุย่อมกล่าวให้ผู้อื่นทราบด้วยไวพจน์เหล่านั้น อันเป็นอาการเป็นลักษณะเป็นนิมิต. ดูก่อนภิกขุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าการทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาก็เป็นอันบอกคืน.

ที่ชื่อว่า เมถุนธัมม์ มีอธิบายว่า ธัมมะของอ สัตบุรุษ ประเพณีของชาวบ้าน มารยาทของคนชั้นต่ำ ธัมมะอันชั่วหยาบ ธัมมะอันมีน้ำเป็นที่สุด กิจที่ควรซ่อนเร้น ธัมมะอันคนเป็นคู่ๆ พึงประพฤติร่วมกัน นี้ชื่อว่า เมถุนธัมม์.

ที่ชื่อว่า เสพ ความว่า ภิกขุใดสอดนิมิตเข้าไปทางนิมิต สอดองค์กำเนิดเข้าไปทางองค์กำเนิด โดยที่สุดแม้ชั่วเมล็ดงา ภิกขุนั้นชื่อว่า เสพ.

คำว่า เป็นปาราชิก ความว่า บุรุษถูกตัดศีรษะแล้ว ไม่อาจมีสรีระคุมกันนั้นเป็นอยู่ ชื่อแม้ฉันใด ภิกขุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เสพเมถุนธรรมแล้วย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า เป็นปาราชิก.

ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่ กัมม์ที่พึงทำร่วมกัน อุเทส ที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่า สังวาส สังวาสนั้นไม่มีร่วมกับภิกขุนั้น เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้.

อนาบัติ (ลักษณะที่ไม่ต้องอาบัติ)

1. ภิกขุไม่รู้สึกตัว 2. ภิกขุวิกลจริต 3. ภิกขุมีจิตฟุ้งซ่าน 4. ภิกขุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา 5. ภิกขุอาทิกัมมิกะ (ภิกขุผู้เป็นต้นบัญญัติ) เหล่านี้ไม่ต้องอาบัติ.

เรื่องต้นบัญญัติ

สมัยนั้นมีหมู่บ้านนามว่ากลันทะ ตั้งอยู่ไม่ไกลเมืองเวสาลี มีบุตรเศรษฐีผู้เป็นบุตรชาวกลันทะ นามว่าสุทินนะ. สุทินนะพร้อมด้วยสหายไปสู่กรุงเวสาลีเห็นพระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม จึงแวะเข้าไปสดับธรรมมีความเลื่อมใสใคร่จะออกบวช จึงกราบทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา แต่พระศาสดายังไม่ประทานอนุญาตให้บวช เพราะมารดาบิดายังไม่อนุญาต สุทินนะจึงกลับไปขออนุญาตท่านมารดาบิดา แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงอ้อนวอนถึง 3 ครั้ง ก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นเดิม สุทินนะจึงนอนลงกับพื้นอดอาหารถึง 7 วัน มารดา บิดาอ้อนวอนให้ล้มความตั้งใจก็ไม่ยอม พวกเพื่อน ๆ มาอ้อนวอน ก็ไม่ยอม ในที่สุดพวกเพื่อน ๆ อ้อนวอนให้มารดาบิดาของสุทิืนนะอนุญาต ก็ได้รับอนุญาต เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็ออกบวช ประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดอยู่ทางวัชชีคาม.

ครั้งนั้น แคว้นวัชชี (ซึ่งมี กรุงเวสาลี เป็นราชธานี) เกิดทุพภิกขภัย พระสุทินนะ มีญาติเป็นคนมั่งคั่งมาก เมื่อเดิืนทางไปถึงกรุงเวสาลี ญาติ ๆ ทราบข่าวก็นำอาหารมาถวายเหลือเฟือ พระสุทินนะก็ถวายแก่ภิกขุทั้งหลายอีกต่อหนึ่ง แล้วเดินทางไปกลันทคาม (ตำบลบ้านเดิมของตน) ความทราบถึงมารดาบิดา บิดาจึงนิมนต์ไปฉัน มารดาก็นำทรัพย์สมบัติมาล่อเพื่อให้สึก พระสุทินนะไม่ยอมจึงไม่สำเร็จ ต่อมามารดาพระสุทินนะชวนให้สึกอีกพระสุทินนะไม่ยอม มารดาจึงกล่าวว่าถ้าไม่สึกก็ขอพืชพันธุ์ไว้สืบสกุล ครั้งนั้นยังไม่มีการบัญญัติวินัยห้ามเสพเมถุน พระสุทินนะเข้าใจว่าเป็นเรื่องพอทำได้ เพื่อให้มีบุตรสืบสกุล จึงเสพเมถุนกับอดีตภริยาของตน ถึง 3 ครั้ง นางก็มีท้องเพราะเหตุนี้.

พระสุทินนะ เกิดความไม่สบายใจขึ้นภายหลัง ถึงขนาดซูบผอม ภิกขุทั้งหลายถามทราบความ จึงพากันติเตียน และนำความกราบทูลพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกขุสงฆ์เพราะเหตุเป็นมูลเค้านั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้่วทรงสอบถามภิกขุนั้น ได้ทูลรับตามความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติืเตียนว่า

“ดูก่อนโมฆบุรุษ ธัมมะอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพรากมิใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่นมิใช่หรือ? เมื่อธัมมะชื่่อนั้น อันเราแสดงแล้วเพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น.

ดูก่อนโมฆบุรุษ ธัมมะอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยายเพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความกระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ (เครื่องร้อยรัด) มิใช่หรือ?

ดูก่อนโมฆบุรุษ องค์กำเนิด อันเธอสอดเข้าไปในปากอสรพิษที่มีพิษร้ายยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากงูเห่ายังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าไปในองค์กำเนิดของมาตุคาม ไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชนยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม ไม่ดีเลย.

ข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร? เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตาย หรือความทุกข์เจียนตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิดเข้าไปในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายกายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้เป็นเหตุ.

ดูก่อนโมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้น มีโทษอยู่ เธอยังชื่อว่าได้ต้องอสัทธัมม์ อันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นมารยาทของคนชั้นต่ำอันชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่ อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลธัมมะ เป็นหัวหน้าของคนเป็นอันมาก

การกระทำของเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว…”

ทรงตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสมการปรารถนาความเพียร โดยอเนกปริยาย.


อำนาจประโยชน์ 10 ประการในการบัญญัติสิกขาบท

ทรงกระทำธัมมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกขุทั้งหลาย แล้วทรงรับสั่งกับภิกขุทั้งหลายว่า

“ดูก่อนภิกขุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกขุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือ
  1. เพื่อความดีงามที่เป็นไปโดยความเห็นชอบร่าวมกันของสงฆ์
  2. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
  3. เพื่อกำราบคนหน้าด้านไม่รู้จักอาย
  4. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกขุผู้มีศีลดีงาม
  5. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะมีในปัจจุบัน
  6. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสียความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะมีในภายหลัง
  7. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
  8. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้ว
  9. เพื่อความดำรงมั่นแห่งสัทธัมม์
  10. เพื่อส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อย สนับสนุนวินัยให้หนักแน่น…
ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกขุเสพเมถุน ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกขุ ผู้ล่วงละเมิด

อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)

ต่อมามีภิกขุวัชชีบุตร ชาวกรุงเวสาลี เข้าใจว่าห้ามเฉพาะเสพเมถุนกับมนุษย์ จึงเสพเมถุนด้วยนางลิง ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมให้ชัดขึ้นว่าห้ามแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย.
ภิกขุ เสพเมถุนขาดจากความเป็นภิกขุแล้ว ภายหลังขอเข้าอุปสมบทอีก พระพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติมิให้อุปสมบทแก่ผู้เช่นนั้น.

องค์แห่งอาบัติ

1. จิตคิดจะเสพเมถุน
2. ยังองค์กำเนิดให้เข้าไปในทวารมรรค ถูกต้อง ณ ที่ใดที่หนึ่ง

พร้อมด้วยองค์ 2 ดังนี้ จึงเป็นปาราชิก (บุพพสิกขาวรรณาหน้า 112)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น