รัชกาลที่ ๔ ทรง ประดิษฐ์อักษรไทยอริยกะ


            เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยัง ทรงผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร หมอบรัดเลย์มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้นำแท่นพิมพ์พร้อมตัวพิมพ์อักษรไทยจากสิงคโปร์ เข้ามาในเมืองไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๘ และในปีรุ่งขึ้น คือ พุทธศักราช ๒๓๗๙ ก็ได้เริ่มพิมพ์ หนังสือแสดงคำสอน



ในศาสนาคริสต์ออกเผยแพร่ นับเป็นการเริ่มต้นการพิมพ์หนังสือในเมืองไทยเป็นครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นคุณประโยชน์ของการพิมพ์หนังสือที่พวกมิชชันนารีได้จัดขึ้นดังกล่าวแล ้ว จึงทรงพระดำริจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อจัดพิมพ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนา สำหรับใช้ในการสั่งสอนและเผยแผ่ ดังปรากฏในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า

หนังสือสวดมนต์ตัวอริยกะ



        “ครั้งนั้น การพิมพ์หนังสือยังไม่แพร่หลาย มีโรงพิมพ์แต่ของพวกมิชชันนารี พิมพ์หนังสือสอนศาสนา ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่วัด พิมพ์พระปาติโมกข์บ้าง สวดมนต์บ้าง แบบแผนอย่างอื่นบ้าง เป็นอักษรอริยกะ ใช้กันในสำนักวัดนี้แทนหนังสือลาน” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่า คงตั้งขึ้น หลังจากทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษกับหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒ ๓๘๒ แล้ว เพราะเป็นทางให้ทรงรู้จักคุ้นเคยกับหมอบรัดเลย์ ที่เป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในเมืองไทย และต่างเป็นกัลยาณมิตรต่อกันแต่บัดนั้นมา หมอบรัดเลย์ได้เล่าไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ ท่านได้หล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยชุดใหม่สำเร็จและได้นำไปถวายเจ้าฟ้ามงกุฏ (คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ ชุด ซึ่งน่าจะหมายความว่า ขณะนั้น (พ.ศ. ๒๓๘๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีโรงพิมพ์อยู่แล้ว เมื่อประมวลจากหลักฐานดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า โรงพิมพ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดบวรนิเวศวิหาร คงได้ตั้งขึ้น ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๒ – ๒๓๘๔ นอกจากตั้งโรงพิมพ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงประดิษฐ์อักษรสำหรับใช้เขียน คำบาลีแทนอักษรขอมขึ้นใหม่ อนุวัตน์ตามอักขร วิธีแบบโรมัน เรียกว่า “หนังสืออริยกะ” มีทั้งแบบพิมพ์ ทั้งแบบเขียน

        หนังสือที่พิมพ์จากโรงพิมพ์ของพระองค์ก็พิมพ์ด้วยอักษรอริยกะ ซึ่งปัจจุบันมีเหลืออยู่น้อยเต็มทีเท่าที่พบมีอยู่ ๓ เรื่อง คือ พระปาติโมกข์ สวดมนต์ และ คาถาธรรมบท ส่วนหนังสือภาษาไทยนั้น จะมีพิมพ์บ้างหรือไม่ ไม่พบหลักฐาน แต่ได้พบข้อความภาษาไทยพิมพ์แ ซกอยู่ในหนังสือสวดมนต์อักษรอริยกะบ้างเล็กน้อย ซึ่งน่าจะเป็นข้อความที่พิมพ์ด้วยแบบอักษรไทยที่หมอบรัดเลย์นำมาถวาย ดังกล่าวข้างต้น หนังสืออริยกะ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดพิมพ์ขึ้น นับได้ว่าเป็นมรดกทางปัญญา และเป็นสมบัติทางวัฒนธรรม อันล้ำค่าของไทย ที่บรรพชนของเราได้สร้างสรรค์ไว้ ควรที่ไทยทั้งหลายจักได้ศึกษาเรียนรู้ มีความภาคภูมิใจ และควรที่จักได้อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานไทยได้ศึกษาสืบไป
        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพและเสด็จสวรรคตในวันเดียวกัน คือ วันพฤหัสบดีดิถีปวารณาออกพรรษา ซึ่งปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ นี้ วันมหาปวารณาออกพรรษาตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ตุลาคม จึงนับได้ว่าเป็นวาระพิเศษวาระหนึ่ง วัดบวรนิเวศวิหาร จึงได้จัดบำเพ็ญกุศลน้อมถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ห ัว เป็นการพิเศษ พร้อมทั้งได้จัดพิมพ์ หนังสือสวดมนต์ตัวอริยกะ เล่มนี้ขึ้นน้อมถวายเฉลิมพระเกียรติอีกส่วนหนึ่งด้วย ในการพิมพ์ครั้งนี้ เนื่องจากต้นฉบับเดิมชำรุดมากจนไม่อาจถ่ายลงพิมพ์ได้โดยตรง จึงได้ใช้วิธีถ่ายแบบอักษร จากต้นฉบับเดิมแล้วเรียงใหม่ตามรูปลักษณ์ของต้นฉบับเดิมทุกประการ เพื่อให้เห็นว่าต้นฉบับเดิมท่านพิมพ์ไว้อย่างไร พร้อมทั้งได้เพิ่มคำอ่านในอักษรไทยไว้ตอนท้ายของหนังสือนี้ด้วย โดยเทียบคำอ่านกับต้นฉบับเดิมไว้หน้าต่อหน้า เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ต้องการอ่านศึกษา ขอหนังสือ “สวดมนต์ ตัวอริยกะ”นี้ คงดำรงอยู่เป็นพระบรมราชานุสรณ์ ส่องพระราชเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ปรากฏแผ่ไพศาลไปทั่วทิศานุทิศ ตลอดนิตยกาล เทอญ


วัดบวรนิเวศวิหาร
๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗
รัชกาลที่ ๔ ทรง ประดิษฐ์อักษรไทยอริยกะอักษร อริยกะเป็นรูปแบบตัวอักษรประเภทหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะทรงพระผนวชเป็น พระวชิรญาณเถระทรงประดิษฐ์ขึ้นสำหรับใช้เขียนหรือพิมพ์ภาษาบาลีแทนตัวอักษรขอมที่ใช้กันมาแต่เดิม รวมทั้งทรงประดิษฐ์ขึ้นสำหรับใช้เขียนภาษาไทยด้วย (อาจเป็นความต้องการใช้แทนอักษรไทยด้วยก็ได้)

อาจถือได้ว่าการประดิษฐ์ อักษรอริยกะเป็นหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมๆ กับการตั้ง ธรรมยุติกนิกาย
สำหรับช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะนั้นไม่ปรากฏชัดเจน สันนิษฐานกันว่าน่าจะทรงประดิษฐ์ขึ้นหลังจากได้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหารแล้ว เพราะในเวลานั้นมีผู้มาถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์เป็นจำนวนมาก

และเพื่อให้การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเป็นไปโดยสะดวกจึงน่าจะทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะขึ้นสำหรับใช้แทน อักษรขอมที่แต่เดิมถือเป็น อักษรศักดิ์สิทธิ์สำหรับเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งที่เป็นภาษาบาลี (เรียกว่า อักษรขอมบาลี”) และภาษาไทย (เรียกว่า อักษรขอมไทย”)

รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้มีความรู้ด้านการพิมพ์ ทรงรู้ปัญหาในการหล่อและการเรียงพิมพ์ ด้วยเหตุที่ทรงรู้ภาษาอังกฤษและภาษาละตินจึงน่าจะทรงดัดแปลงอักษรไทยและวิธีการเขียนโดยอาศัยแบบอย่างจาก อักษรโรมันเป็นแม่แบบ
เมื่อพิจารณารูปแบบอักษรอริยกะแล้วจะพบว่าอักษรอริยกะเป็นอักษรที่ได้อิทธิพลรูปแบบตัวอักษรจากอักษร โรมันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เห็นได้จากรูปแบบตัวอักษรและในลักษณะที่มีการแบ่งอักษรอริยกะเป็น ๒ กลุ่ม คือ

๑. อักษรอริยกะตัวพิมพ์

๒. อักษรอริยกะตัวเขียน



อักษรอริยกะทั้งสองกลุ่มแม้จะเป็นอักษรอริยกะเช่นเดียวกันแต่ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ลักษณะเช่นนี้พบได้ในรูปแบบตัวอักษร โรมัน

นอกจากอิทธิพลทางด้านรูปอักษรแล้ว ในด้านระบบการเขียนหรืออักขรวิธีของอักษรอริยกะปรากฏอิทธิพลอักขรวิธีการเขียนของอักษรโรมันเข้าไปประสมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเรื่องการจัดวางรูป สระ

ทั้งนี้เพราะลักษณะการวางรูปสระในระบบการเขียนของอุษาคเนย์ เช่น อักษรขอม หรืออักษรไทย นิยมวางสระไว้ทั้งด้านหน้า ด้านบน ด้านล่าง และด้านหลังพยัญชนะ ซึ่งจะเกิดปัญหามากสำหรับการเขียนหรือการพิมพ์


อักษรสิงหล


อักษรขอมไทย
ในระบบการเขียน อักษรขอมแล้วยิ่งมีความยุ่งยาก โดยเฉพาะระบบอักษรที่มีทั้ง พยัญชนะตัวเต็มและ พยัญชนะตัวเชิง



ด้วยเหตุนี้เมื่อพระวชิรญาณเถระ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะขึ้น จึงน่าจะทรงพยายามที่จะตัดความยุ่งยากในระบบการเขียนในอักษรขอมและอักษรไทยออกไปทั้งหมด และใช้ตามระบบการเขียนอักษร โรมันซึ่งง่ายกว่า ทั้งในด้านการเรียงพยัญชนะและสระ (ซึ่งเขียนเรียงไว้หลังพยัญชนะทั้งหมด)


อักษรละติน


ดังนั้น อักษรอริยกะจึงเป็นอักษรที่ได้รับอิทธิพลทางรูปแบบตัวอักษรและอิทธิพลทางด้านอักขรวิธีในการเขียนจาก อักษรโรมันนั่นเอง

พระวชิรญาณเถระ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) กลับทรงประดิษฐ์ อักษรอริยกะเพื่อ พิมพ์พระธรรมวินัยเผยแพร่แทนการ จารบนใบลาน เช่นเดียวกับที่มิชชันนารี พิมพ์คัมภีร์ไบเบิลสอนศาสนาคริสต์ กรณีนี้อาจเป็นหนึ่งในกระบวนการปรับ พระพุทธศาสนาให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้นก็ได้


อักษรเทวนาคี

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์อักษรแบบใหม่ขึ้นแล้วพระราชทานนามว่า อักษรอริยะอาจเนื่องมาจากต้องการแสดงให้เห็นว่าอักษรประเภทนี้เป็นอักษรของ ผู้เป็นอารยชนซึ่งอาจมีความหมายเป็นนัยยะที่แสดงถึงการปรับตัวเข้าหาความเป็น อริยะหรือ อารยะ” (อาจหมายถึงประเทศตะวันตก)

ดังนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์อักษร อริยกะขึ้นใช้ นอกจากจะเพื่อความสะดวกในการศึกษาเล่าเรียนแทนอักษรขอมแล้ว (ซึ่งโดยความเป็นจริงอาจยุ่งยากกว่าเพราะต้องปรับกระบวนการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด) ยังอาจมีนัยยะถึงการปรับเปลี่ยนเข้าหาความเป็นอารยะ (ความเป็นตะวันตก) อีกด้วย






บรรณานุกรม
กำธร สถิรกุล. ลายสือไทย ๗๐๐ ปี. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๒๖.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ความทรงจำ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.
วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. คาถาชาดกแลแบบอักษรอริยกะ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๔.