วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

พระไตรปิฏกอักษรสยาม ณ วัดป่าบ้านตาด

182812_202534679762863_179582315391433_895695_1898009_n

พระไตรปิฎก คือ พระบรมศาสดาในปัจจุบันสมัย 

กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ร่วมกับผู้อุปถัมภ์พระไตรปิฎก และประชาชน

ทำการอัญเชิญพระไตรปิฎกปาฬิ "จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช อักษรสยาม พ.ศ. 2436 :
ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล พ.ศ. 2553"
ชุด 40 เล่ม  (รวมเล่มประมวลเนื้อหา เล่มที่ 40)

ถวายเป็นพุทธบูชา ธัมมบูชา และสังฆบูชา มอบแก่ "มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี" โดยประดิษฐานพระไตรปิฎก จปร. ชุดนี้ ณ วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี ในวันมาฆบูชา วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554


พระไตรปิฎก จปร. ชุดนี้ กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ได้ใช้เวลาอนุรักษ์ถ่ายภาพทั้งสิ้นประมาณ 15,000 หน้า สร้างฐานข้อมูลอ้างอิงกับฉบับต่างๆ และจัดพิมพ์ด้วยระบบสื่อผสมเทคโนโลยี เป็นเวลากว่า 10 ปี โดยได้น้อมถวายเป็นชุดแรกในประเทศไทยแด่่สมเด็จพระสังฆราช องค์อุปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎก สากล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อทรงเจริญพระชนม์ 96 ปี พ.ศ. 2552 และในปี พ.ศ. 2554 นี้ ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดป่าบ้านตาด เป็นครั้งแรกในฐานะสถาบันหลักฝ่ายสงฆ์อรัญวาส
ในอดีต เมื่อ 112 ปี กว่ามาแล้ว กรุงสยามได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎก ปาฬิภาสา (หรือที่เคยเรียกกันว่า ภาษาบาลี) เป็นชุดๆ แรกของโลก โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม ได้ทรงมีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้าโปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นชุดหนังสือ โดยเปลี่ยนจากการบันทึกปาฬิภาสาด้วยอักษรขอมโบราณ เป็นอักษรสยามที่ทันสมัย และเปลี่ยนการใช่้ใบลานเป็นกระดาษ และตีพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นให้สำเร็จเป็นชุด 39 เล่ม ในปี ร.ศ. 112 หรือ พ.ศ. 2436 เรียกว่า พระไตรปิฎกปาฬิภาสา อักษรสยาม
แม้ว่า เมื่อจัดพิมพ์สำเร็จในปี พ.ศ. 2436 ซึ่งเป็นปีที่กรุงสยามต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ร้ายแรงจากประเทศมหาอำนาจ ตะวันตกที่ต้องการยึดทวีปเอเซียอาคเนย์เป็นเมืองขึ้น แต่เป็นที่อัศจรรย์ว่า ภายหลังการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก จปร. ในปี พ.ศ. 2436 กรุงสยามสามารถยุติข้อพิพาทดังกล่าวได้ ต่อมายังได้โปรดให้พระราชทานพระไตรปิฎก ชุดนี้ไปยังสถาบันสำคัญในนานาประเทศ 260 แห่งใน 30 ประเทศทั่วโลก นับเป็นการเผยแผ่พระไตรปิฎกเถรวาทที่สำคัญที่สุดอีกวาระหนึ่งในประวัติ ศาสตร์ ตามที่พระเจ้าอโศกบรมธัมมิกมหาราชแห่งชมพูทวีปได้ทรงเริ่มเผยแผ่พระพุทธ ศาสนาในราวพุทธศตวรรษที่ 3
ปัจจุบันชาวพุทธและนักวิชาการทั่ว โลกได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ ชุดนี้ ซึ่งถือเป็นการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก "ปาฬิ" เป็นชุดหนังสือชุดแรกของโลก ที่สำคัญคือเป็นการแสดงอักขระการเขียนเสียงปาฬิภาสาด้วยอักษรสยามที่สมบูรณ์ เป็นเลิศด้วย
กล่าวคือ

เป็นการนำเสนอการเขียนเสียงปาฬิ ด้วยระบบอักษรที่ก้าวล้ำนำยุค ถึงขั้น "สัททอักษร" (phonetic alphabet) ด้วย เช่น มีการเทียบอักษรสยาม (Siam script) กับ อักษรโรมัน (Siam script), มีการประดิษฐเครื่องหมายต่างๆ : แสดงเสียงสะกด (วัชฌการ); เสียงควบกลำ้ (ยามักการ); และเสียงนิคหิต (พินทุโปร่ง) ซึ่งเป็นระบบการเขียนเสียงที่ใช้ในทางวิชาการสัททศาสตร์ปัจจุบัน และเป็นการสร้างระบบสัททอักษรปาฬิ ก่อนสมาคมสัททศาสตร์สากลในทวีปยุโรปจะได้ประดิษฐ์ "สัททอักษรสากล" สำหรับใช้เขียนเสียงปาฬิภาสาด้วยอักษรโรมันเสียอีกด้วย
การอนุรักษ์เสียงปาฬิภาสา ในพระไตรปิฎกปาฬิ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเป็นสิกขาบท ในพระวินัยปิฎก ว่า "การออกเสียงอักขระที่ผิดพลาด เป็นอาบัติ" อันเป็นการทำให้สังฆกัมม์เป็นโมฆะ ด้วยเหตุนี้สงฆ์ที่บริสุทธ์ิจึงขึ้นอยู่กับหลักการออกเสียงปาฬิ หรือ ที่เรียกว่า "การสังวัธยายปาฬิ" ให้ถูกต้องตามหลักที่กำเนิดของเสียง (ฐาน-กรณ อ่านว่า ฐานะ-กะระณะ) ด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่า สงฆ์วัดป่าไทย หรือที่รู้จักกันดีว่า Thai Forest Monastery เป็นสถาบันตัวอย่างในการปฏิบัติของชาวโลกในปัจจุบัน องค์กรสงฆ์นานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในทวีปตะวันตก ก็เกิดขึ้นเพราะศรัทธาในการปฏิบัติที่เคร่งครัดของวัดป่าไทย และที่สำคัญก็คือ ได้ศึกษาเรียนรู้การสังวัธยายปาฬิภาสาที่ถูกต้องตามหลักการจากวัดป่าไทยเป็น หลัก เห็นได้จากการสวดทรงจำพระปาฏิโมกข์ของสงฆ์นานาชาติ ก็ล้วนฝึกหัดมาจากวัดป่าไทยเป็นหลัก
ด้วยเหตุนี้ ผู้มีจิตศรัทธาอุปถัมภ์พระไตรปิฎก นำโดยกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ผู้จัดพิมพ์พระไตรปิฎก จึงได้ร่วมกับประชาชนชาววัดป่าบ้านตาด อัญเชิญพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม มาประดิษฐาน ณ สถาบันสำคัญของวัดป่าไทย เพื่อเป็นทั้งสัญญลักษณ์ของกุสลเจตนาอันเลิศในพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ผู้ที่มีคุณูประการต่อสถาบันพระศาสนา สถาบันชาติ และสถาบันพระมหากษัติริย์พุทธมามกะ อีกทั้งยังเป็นหลักอ้างอิงที่สำคัญยิ่งของ "ปาฬิภาสา" --เสียงพระธัมม์อันศักดิ์สัทธิ์-- ที่ได้สืบทอดมาตั้งแต่พุทธกาล และได้มีการสวดทรงจำ และอนุรักษ์สืบทอดมาใน "ภิกขุปาฏิโมกข์ปาฬิ" ของคณะสงฆ์ทั่วโลกเป็นเวลากว่า 2500 ปี ตราบเท่าจนถึงทุกวันนี้
การประดิษฐานพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม ณ วัดป่าบ้านตาด จะเป็นสัญญลักษณ์ของพระบรมศาสดาในปัจจุบันสมัย ตามปฏิปทาของพระอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติศาสนา สมดังที่พระบรมศาสดาได้ทรงกล่าวไว้ และมีบันทึกในพระไตรปิฎก ว่า

"...พระธัมม์ และ พระวินัย จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อตถาคตล่วงลับไป"

มาฆบูชา พ.ศ. 2554




พระไตรปิฏกอักษรสยาม ณ วัดป่าบ้านตาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น