วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ariyavinaya

ประมวลพุทธบัญญัติอริยวินัยจากพระไตรปิฎกนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตและวิธีดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

ที่เรียกว่า พระวินัย ซึ่งเป็นพุทธบัญญัติ แบ่งออกได้สองส่วน คือ

อาทิพรหมจริยกาสิกขา หมายถึง หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายบทบัญญัติ หรือข้อปฏิบัติอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นพุทธอาณา เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายและวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดโดยปรับอาบัติหนักบ้าง เบาบ้าง พระสงฆ์สวดทุกกึ่งเดือน เรียกว่า พระปาติโมกข์  และส่วน อภิสมาจาริกาสิกขา หมายถึง หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนมธรรมเนียมเกี่ยวกับมรรยาท และความเป็นอยู่ที่ดีงามสำหรับชักนำความประพฤติ ความเป็นอยู่ของสงฆ์ให้ดีงาม มีคุณค่า น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้นไปพระวินัยนั้น พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติล่วงหน้า ต่อเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามประพฤติเช่นนั้นอีก ดังจะเห็นได้ว่าในตอนต้นพุทธกาล คือตั้งแต่พรรษาที่ 1 ถึงพรรษาที่ 11 พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แน่นอน เพราะภิกษุสงฆ์ล้วนมีวัตรปฏิบัติดีงามตามแบบอย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงประพฤติปฏิบัติมาต่อมา หลังจากออกพรรษาที่ 12 นี้แล้วพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ 1 ห้ามภิกษุเสพเมถุน โดยปรารภเหตุการณ์มัวหมองในคณะสงฆ์ อันเนีื่องมาจากการที่พระสุทินเสพเมถุนกับอดีตภรรยาที่ป่ามหาวันกรุงเวสาลี การที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัิติครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และทรงบัญญัติเรื่อยมาทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่ดีงามขึ้นในคณะสงฆ์
ในการบัญญัติสิกขาบทแต่ละครั้งมีขั้นตอน ดังนี้คือ เมื่อเกิดเรื่องมัวหมองขึ้นภายในคณะสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสถามภิกษุผู้ก่อเหตุให้ทูลรับแล้ว ทรงชี้โทษแห่งการประพฤติเช่นนั้น และตรัสอานิสงส์แห่งความสำรวมระวัง แล้วจึงทรงตั้งพระบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุทำอย่างนั้นอีกต่อไป ทรงกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิด เรียกว่า ปรับอาบัติ  คำว่า อาบัติ แปลว่า การต้อง (ความผิด) การล่วงละเมิด คำนี้เป็นชื่อเรียกกิริยาที่ล่วงละเมิดสิกขาบทนั้น ๆ และเป็นชื่อเรียกโทษหรือความผิดที่เกิดจากการล่้วงละเมิดสิกขาบท เช่น ภิกษุกล่าวอุตตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องอาบัติปาราชิก เป็นต้น

อาบัติมี 7 กองคือ
  1. ปาราชิก (แปลว่า ผู้พ่ายแพ้)
  2. สังฆาทิเสส (แปลว่า อาบัติอันจำปรารถนาสงฆ์ ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ)
  3. ถุลลัจจัย (แปลว่า การล่วงละเมิดที่หยาบ)
  4. ปาจิตตีย์ (แปลว่า การละเมิดที่ยังกุศลให้ตก)
  5. ปาฎิเทสนียะ (แปลว่า ทำไม่ดี)
  6. ทุกกฏ (แปลว่า ทำไม่ดี)
  7. ทุพภาสิต (แปลว่า พูดไม่ดี)
อาบัติปราราชิกมีโทษหนัก ทำให้ผู้ล่วงละเมิดขาดจากความเป็นภิกษุ

อาบัติสังฆาทิเสสมีโทษหนักน้อยลงมา ผู้ล่วงละเมิดต้องอยู่กรรมคือ ประพฤติวัตรตามที่ทรงบัญญัติ จึงจะพ้นจากอาบัตินี้
ส่วนอาบัติ 5 กองที่เหลือมีโทษเบา ผู้ล่วงละเมิดต้องประกาศสารภาพผิด ต่อหน้าภิกษุด้วยกัน ดังที่เรียกว่า  ปลงอาบัติ ( มีรายละเีอียดวิธีในภาคผนวก หน้า 418 – 419 ) จึงจะพ้นอาบัติเหล่านี้
บทบัญญัิติในพระวินัยแต่ละข้อหรือมาตรา เรียกว่า สิกขาบท แปลว่า ข้อที่ต้องศึกษา…
พระวินัยปิฎก ในพระไตรปิฎกมีการแบ่งออกเป็น 5 คัมภีร์ 8 เล่้มดังนี้
 
1. คัมภีร์ภิกขุวิภังคหรือ มหาวิภังค์ ว่าด้วยบทบัญญัติสำหรับภิกษุ 227 สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ เป็นประธานแม่บท สงฆ์ยกขึ้นทบทวนทุกกึ่งเดือนแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้




ภิกขุวิภังค์ ภาค1 พระวินัยปิฏก เล่ม 1 ว่าด้วยปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2

ภิกขุวิภังค์ ภาค2 พระวินัยปิำฎก เล่ม 2 ว่าด้วยนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (ปาจิตตีย์ที่ต้องสละของก่อนจึงปลงอาบัติได้) 30 ปาจิตตีย์ 92 ปาฏิเทสนียะ 4 เสขิยะ 35 อธิกรณสมถะ (วิธีระงับเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วสงฆ์ตัองจัดต้องทำ) 7

2. คัมภีร์ภิกขุนีวิภังค์ พระวินัยปิฎก เล่ม 3    ว่าด้วยบทบัญญัติสำหรับภิกษุณี 311 สิกขาบท ที่มาในภิกขุณีปาติโมกข์ส่วนที่ไม่ซ้ำกับของภิกษุ (มิำได้นำมาประมวลไว้ในหนังสือนี้)   สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์นั้นปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดไว้ครบทุกอาบัติ คือระบุอาบัติโดยตรง 4 กอง ได้แก่อาบัติ ปาราชิก, สังฆาทิเสส, ปาจิตตีย์ (ทั้งนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ที่ต้องสละของเสียก่อนจึงปลงอาบัติ และ สุทธิกปาจิตตีย์) และปาฏิเทสนีย์ มีอาบัติที่ไม่ได้ระบุไว้โดยตรงอีก 3 กอง ซึ่งเป็นความผิดของสิกขาบทในพระปาติโมกข์บางข้อ ที่ทรงปรับโทษแบบลดระดับในกรณีที่มีการกระทำผิด ในลักษณะที่แตกต่างออกไปจากสิกขาบทที่บัญญัติไว้เพียงเล็กน้อย ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย, อาบัติทุกกฏ, อาบัติทุพภาสิต
สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์เหล่านี้ ยกเว้นอนิยตและเสขิยะจัดเป็นอาิทิพรหมจริยกาสิขา ส่วนอนิยต เสขิยะ และสิกขาบทจำนวนมากที่มานอกพระปาติโมกข์ล้วนเป็น อภิสมาจาริกาสิกขา มีทั้งที่ทรงบัญญัติเป็นข้อห้ามและข้ออนุญาต ในกรณีที่เป็นข้อห้าม ถ้าภิกษุล่วงละเมิดไม่ปฏิบัิติตามทรงปรับอาบัติทุกกฏ ปรับตามควร เช่น ปาจิตตีย์ หรือปรับสูงขึ้นไปถึงถุลลัจจัย


3. คัมภีร์มหาวรรค แปลว่า วรรคใหญ่ คือว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับสงฆ์ที่เป็นเรื่องสำคัญ ๆ และต้องทำเสมอ แบ่งเป็น 2 ภาค รวม 10 ขันธ์

มหาวรรค ภาค 1 พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มี 4 ขันธ์ หรือ มหาขันธ์ : หมวดว่าด้วยเรื่องสำคัญ เหตุการณ์ตั้งแต่ตรัสรู้, อุโบสถขันธ์ : หมวดว่าด้วยอุโบสถ, วัสสูปนายิกาขันธ์ : ว่าด้วยการเข้าพรรษา, ปวารณาขันธ์ : ว่าด้วยการให้ภิกษุอื่นตักเตือนได้.

มหาวรรค ภาค 2 พระวินัยปิฎก เล่ม 5 มี 6 ขันธ์ คือ จัมมขันธ์ : ว่าด้วยหนัง เรื่องรองเท้า ยานพาหนะ, เภสัชชขันธ์ : ว่าด้วยเรื่องเภสัช ปานะ การเก็บอาหาร, กฐินขันธ์ : ว่าด้วยเรื่องกฐิน,จีวรขันธ์ : ว่าด้วยเรื่องจีวรการใช้ผ้า, จัมเปยยขันธ์ : ว่าด้วยเหตุการณ์ในกรุงจัมปา ว่าด้วยการลงโทษของสงฆ์ต่างๆ, โกสัมพิขันธ์ : ว่าด้วยเรื่องเหตุการณ์ในกรุงโกสัมพี ส่วนใหญ่กล่าวถึงเรื่องสงฆ์ แตกสามัคคีกัน แล้วทรงแสดงวิธีปรองดองของสงฆ์ในทางวินัย

4. คัมภีร์จุลวรรค แปลว่า วรรคเล็ก หมายถึงวรรคที่ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด นอกจากบทบัญญัติที่มาในพระปาติโมกข์ แบ่งเป็น 2 ภาค รวม 12 ขันธ์

จุลวรรค ภาค 1 พระวินัยปิฎก เล่ม 6 เนื้อหาเกือบทั้งหมดไม่ได้ว่าด้วยบทบัญญัติที่เป็นข้อห้าม แต่ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ทางกระบวนการสงฆ์ ที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสงฆ์ มี 4 ขันธ์ คือ กัมมขันธ์ : ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการลงโทษ เพื่อแก้ไขทิฏฐิพฤติกรรมของภิกษุอันเกิดในสงฆ์ ที่เกิดเพราะเหตุมรรคหรือปฏิปทา, ปาริวาสิกขันธ์ : ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับปริวาสกรรม, สมุจจยขันธ์ : ประมวลวิธีเพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสส, สมถขันธ์ : ขยายความวิธีระงับอธิกรณ์
เรื่องไม่ดีงามซึ่งเกิดขึ้นในสงฆ์ ถ้าเป็นการละเมิดบทบัญญัติ ภิกษุผู้ละเมิดย่อมต้องอาบัติตามสมควรแก่กรณีแน่นอน โดยไม่ต้องมีใครมากล่าวโทษแต่ในบางกรณีหลังจากที่ปรับโทษแล้ว ยังต้องมีกระบวนการที่คณะสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การอยู่ปริวาสกรรม – การประพฤติมานัต เพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสส , หรือกรณีที่อาจจะมีเหตุก่อผลกระทบต่อมหาชนเป็นอันมาก จึงต้องมีวิธีการลงโทษเพื่อแก้ไขทิฏฐิพฤติกรรมของภิกษุที่เกิดเพราะเหตุมรรคหรือปฏิปทา, หรือกรณีมีอธิกรณ์เกิดขึ้น จึงมีวิธีระงับอธิกรณ์ หล่านี้ล้วนเป็นมาตราการที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสงฆ์ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาของสงฆ์อย่างเด็ดขาด และเพื่อประคับประคอมศรัทธาของชาวบ้านผู้ถวายความอุปถัมภ์

จุลวรรค ภาค 2 พระวินัยปิฎก เล่ม 7 นี้ เป็นเรื่องข้อห้าม และข้ออนุญาตเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อร่างกายและอื่น ๆ แบ่งเป็น 8 ขันธ์ คือ ขุททกวัตถุขันธ์ : ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด เช่น ข้อปฏิบัติในการอาบน้ำ การดูมหรสพ บาตร เครื่องใช้โลหะ, เสนาสนขันธ์ : ว่าด้วยเรื่องที่อยู่ เครื่องใช้ ตลอดจนการก่อสร้าง, สังฆเภทขันธ์ : ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน, วัตตขันธ์ : ว่าด้วยวัตรข้อปฏิบัติ 14 เรื่อง เช่นการปฏิบัติต่ออาคันตุกะ อุปัชฌาย์ ศิษย์ เป็นต้น, ปาฏิโมกขัฏฐปนขันธ์ : การงดสวดปาติโมกข์ พร้อมเงื่อนไข, ภิกขุนีขันธ์ : กล่าวถึงความเป็นมา ข้อปฏิบัติ ข้อห้าม ข้ออนุญาตต่าง ๆ เกี่ยวกับนางภิกษุณี, ปัญจสติกขันธ์ : ว่าด้วยเหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพานถึงทำสังคายนาครั้งที่ 1 ของพระอรหันต์ 500 รูป, สัตตสติกขันธ์ : ว่าด้วยมูลเหตุ และการดำเนินการในการทำสังคายนาครั้งที่ 2 ของพระอรหันต์ 700 รูป.

5. คัมภีร์ปริวาร พระวินัยปิฎก เล่ม 8 นี้เป็นคัมภีร์ประกอบหรือคู่มือ บรรจุคำถามตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัยตั้งแต่ เล่ม 1 – 7 เป็นการประมวลเนื้อหาที่สำคัญต่าง ๆ มากล่าวไว้ มาจัดเป็นหัวข้อ
อนึ่ง การรวบรวมประมวลพระพุทธบัญญัติอริยวินัย จากพระไตรปิฎก เล่มนี้ เป็นการสรุปย่อรวบรวมให้กระทัดรัดเข้าใจง่าย รักษาใจความหรือยกพุทธพจน์โดยตรงในบางตอน เพื่อให้เหมาะสมกับผู้สนใจใคร่ศึกษาสามารถศึกษานำไปปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตนเอง และเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นกระทั่งสังคม ดังกล่าวไว้แล้ว โดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสนใจ ที่จะศึกษาจากพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกโดยตรง นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในการจัดทำหลายประการ เช่น พยายามจะให้มีขนาดของหนังสือไม่หนาจนเกินไป เป็นต้น
จึงได้จัดหมวดหมู่ โดยอ้างอิงการจัดหมวดหมู่ตามพระไตรปิฎกดังแสดงในแผนผังสารบาญ และมีรายละเอียดการจัดรวบรวมพิเศษอื่น ๆ ที่ควรทราบดังนี้ :-

รายละเอียดการจัดเรียงพิเศษอื่นๆ ที่ควรทราบของหนังสือเล่มนี้ 

1. รวบรวมอริยวินัยเฉพาะส่วนภิกษุสงฆ์ทั้งหมด แต่มิได้เรียบเรียงในส่วนสิกขาบทภิกษุณีสงฆ์ ที่มาในพระวินัยปิฎก เล่ม 3 (เพื่อให้มีขนาดไม่หนามากจนเกินไป)

2. ในส่วนวินัยที่มาในพระปาติโมกข์ ในทุกสิกขาบท พระไตรปิฎกจะลำดับเนื้่อหาของแต่ละสิกขาบทในลักษณะเดียวกันคือ

1. ต้นบัญญัติ เล่าเรื่องต้นเหตุ ที่ทำให้ทรงบัญญัติสิกขาบท

2. พระบัญญัติ คือสิกขาบทที่ทรงบัญญัติ และอนุบัญญัติ คือการบัญญัติเพิ่มเติมข้อความให้กับสิกขาบทนั้น เพื่อความรอบคอบรัดกุม

3. สิกขาบทวิภังค์และบทภาชนีย์ คำว่าสิกขาบทวิภังค์ หมายถึง การจำแนกความสิกขาบท คำว่า บทภาชนีย์ แปลว่าการจำแนกแยกแยะความหมายของบท เป็นการนำเอาคำในสิกขาบทวิภังค์มาขยายความเพิ่มเติมอีก

4. อนาบัติ ว่าด้วยข้อยกเว้นสำหรับผู้ล่วงละเมิดสิกขาบทโดยไม่ต้องอาบัติ

5. วินีตวัตถุ ว่าด้วยเรื่องต่างๆ ของภิกษุผู้กระทำการบางอย่างอันอยู่ในขอบข่ายของสิกขาบทนั้นๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงไต่สวนเอง แล้วทรงวินิจฉัยชี้ขาดไว้

ส่วนในหนังสือนี้จะจัดเรียงโดย

1. นำพระบัญญัติที่รวมอนุบัญญัติแล้วไ้ว้เป็นอันดับแรก เพื่อสะดวกแก่ผู้ศึกษาที่จะนำไปปฏิบัติ จะได้ทราบโดยทันทีว่าสิกขาบทนั้น ๆ ทรงบัญญัติไว้อย่างไร โดยยกพระพุทธพจน์โดยตรงมาเน้นข้อความในเครื่องหมายคำพูดไว้

2 . นำวิภังค์หรือบทภาชนีย์ เฉพาะในบางส่วนที่เห็นว่าคำนั้นผู้ศึกษาอาจจะเข้าใจได้ไม่ชัดเจน เพื่อให้ทราบถึงคำอธิบายที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกโดยตรง ( ในส่วนนี้สันนิฐานว่ามีทั้งที่เป็นพระพุทธาธิบายโดยตรงและบางส่วนเป็นการอธิบายที่อยู่ในชั้นพระสังคาหกาจารย์ผู้รวบรวมพระไตรปิฎก)

3. ตามด้วยอนาบัติ ลักษณะที่ไม่ต้องอาบัิติ เพื่อให้ผู้ศึกษาทราบลักษณะยกเว้นไม่ต้องอาบัตินั้นๆ(สันนิฐานว่ารวบรวมไว้ในชั้นพระสังคาหกาจารย์)ที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกโดยตรงในทุกสิขาบท ยกเว้นเสขิยะ

4. ต่อด้วยย่อความเล่าเรื่องต้นบัญญัติ ทีี่มีมาในพระไตรปิฎก เพื่อให้หนังสือไม่หนาเกินไป แต่ยังคงใจความไว้เพื่อให้ทราบที่มา อันจะทำให้ทราบเหตุผล เจตนารมณ์พระพุทธประสงค์ในการบัญญัติสิกขาบทนั้น ๆ(วินีตวัตถุมิได้ย่อไว้ผู้สนใจพึงศึกษาจากพระไตรปิฎก)

3. ในส่วนสิกขาบทนอกพระปาติโมกข์ หรืออภิสมาจาริกสิกขาในคัมภีร์มหาวรรค และจุลวรรค (พระวินัยปิฎกเล่ม 4, 5, 6, 7) นั้น คงเป็นการย่อใจความเรียงตามการจัดในพระไตรปิฎก แต่จะเน้นข้อความหรือยกพระพุทธพจน์ไว้ในส่วนที่น่าสนใจเป็นพิเศษ

(หมายเหตุ ในพระไตรปิฎกบาลี สยามรัฐ อํ. ติก. 20 / 297 /524 มีพระพุทธดำรัสตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิกขาบทร้อยห้าสิบสิกขาบทนี้ย่อมมาสู่อุเทส (การยกขึ้นแสดงในท่ามกลางสงฆ์) ทุกกึ่งเดือนตามลำดับอันกุลบุตร ผู้ปรารถนาประโยชน์พากันศึกษาอยู่ในสิกขาบทเหล่านั้นฯ” จากพระสูตรนี้แสดงให้ทราบว่า ในครั้งพุทธกาลสิกขาบท ที่มาในพระปาติโมกข์หรือที่เรียกว่าอาทิพรหมจริยกาสิกขาบท มี 150 ข้อ คือไม่รวมอนิยต 2 และเสขิยวัตร 75 มิใช่มี 227 ตามที่เข้าใจกันในบัดนี้ ดังนั้น อนิยต และ เสขิยวัตร 75 มิใช่มี 227 ตามที่เข้าใจกันในบัดนี้ ดังนั้น อนิยต และ เสขิยวัตร ควรจะจัดอยู่ในภาคอภิสมาจาริกสิกขาบท แต่เนื่องจากพระไตรปิฎกปัจจุบันได้จัดอนิยตและเสขิยวัตรไว้ในคัมภีรฺ์ ภิกขุวิภังค์ภาค 1 และภาค 2 ตามลำดับ การจัดของหนังสือเล่นนี้อนุวัตรตามพระไตรปิฎก จึงได้จัดไว้ตามนั้น).

4. ได้รวบรวมพระวินัยที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่น และบางส่วนในคัมภีร์ปริวาร (พระวินัยปิฎก เล่ม 8 ) ที่น่าสนใจมารวมไว้เป็นหมวดหนึ่ง โดยระบุที่มาจากพระไตรปิฎกไว้แล้ว ส่วนตอนอื่นๆข้างต้นนั้น เนื่องจากมีการจัดเรียงตามพระไตรปิฎก เพื่อสะดวกในการค้นหาอยู่แล้วจึงมิได้ระบุที่มาไว้.

5. ได้รวบรวมคำบาลีที่ใช้บ่อย เช่น คำพินทุอธิษฐาน คำเสียสละ ปลงอาบัติ มอบฉันทะ อุโบสถ กรมวาจาสมมติเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ และ กรรมวาจาสังฆกรรมต่าง ๆ ที่ใช้บ่อย ไว้ในภาคผนวกเพื่อสะดวกในการใช้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น