วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระราชทานพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก.

พระเจ้าอยู่มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. 
แก่มูลนิธิ 100 พระชันษา สมเด็จพระญาณสังวราณุสรณ์ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ 
 ณ อาคารอาทิตยาทร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล








คำกล่าว 
ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล




ท่านประธานมูลนิธิ 100 พระชันษา สมเด็จพระญาณสังวรานุสรณ์ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พิทยา จารุพูนผล และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน :



ในนามมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ขอน้อมถวายอนุโมทนาสาธุการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. แก่มูลนิธิ 100 พระชันษา สมเด็จพระญาณสังวราณุสรณ์ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ในครั้งนี้ และขอแสดงความยินดีที่มูลนิธิ 100 พระชันษาฯ ได้ริเริ่มการศึกษาพระไตรปิฎกเสียงสัชฌายะ ในทางวิชาการในวาระของการประดิษฐานในวันนี้
ในฐานะที่มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลเป็นผู้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกชุด ภ.ป.ร. และ ส.ก. ชุดนี้ ขอกล่าวความเป็นมาสั้นๆ 4 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ฉบับสัชฌายะจัดพิมพ์ในโครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งถือกำเนิดจากพระบัญชาในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผู้ที่ทรงเห็นความสำคัญของการจัดพิมพ์ฉบับสากล เป็นอักษรโรมัน ก็ด้วยเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ พระองค์นี้ ทรงเป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยไปร่วมประชุมสังคายนาในระดับนานาชาติ ณ กรุงย่างกุ้ง พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญในพระพุทธศาสนาที่แทบจะไม่มีผู้ใดรู้กันในปัจจุบัน ดังนั้นการที่มูลนิธิ 100 พระชันษาฯ ซึ่งอยู่ในพระสังฆราชูปถัมภ์ในเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ซึ่งได้ร่วมสืบทอดผลงานตามพระบัญชาในวันนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
2. ฉบับสัชฌายะ หรือ พระไตรปิฎกเพื่อการออกเสียงชุดนี้ เป็นการดำเนินตามหลักการออกเสียงในพระวินัยปิฎก ที่เรียกว่า พยัญชนะกุสะละ 10 ประการ ดังนั้น การออกเสียงสัชฌายะจึงมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการมุ่งเน้นการออกเสียงตามหลักไวยากรณ์ที่เป็นสากล ปัจจุบันพิสูจน์ได้ด้วยอักขรวิธีสยามปาฬิ ในพระไตรปิฎกฉบับ จ.ป.ร. พุทธศักราช 2436



3. ฉบับสัชฌายะ เป็นผลงานทางสหวิชาการที่บูรณาการต่อยอดจากการพิมพ์พระไตรปิฎกชุดอักษรต่างๆ โดยสร้างสรรค์เป็นชุด โน้ตเสียงปาฬิ ซึ่งสามารถแสดงจังหวะ และการออกเสียงปาฬิได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตลอดจนมุ่งเน้นการออกเสียงในพระไตรปิฎกโดยไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ
4. ฉบับสัชฌายะ เป็นผลงานในทางวิชาการและเทคโนโลยีทางเสียง จัดทำเพื่อให้สามารถเขียนและบันทึกเสียงสังคายนาในระบบดิจิทัลให้แม่นตรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต่างจากการสวดมนต์ในอดีต ซึ่งมุ่งหวังการออกเสียงเร็วโดยไม่คำนึงถึงเสียงละหุ และเสียงคะรุ หรือที่เรียกกันว่า ออกเสียงสวดตามประเพณี หรือ Traditional Chanting โดยสัชฌายะมุ่งเน้นเสียงละหุและเสียงคะรุ เรียกว่า International Sajjhāya Recitation ซึ่งเป็นการออกเสียงสากล
ในวโรกาสคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พุทธศักราช 2561 ขอน้อมเกล้าฯ ถวายชัยมงคล และจัดงานฉลองพระราชศรัทธาที่ได้พระราชทานภาพพระนามาภิไธย ส.ก. เพื่อตีพิมพ์บนพระไตรปิฎก โน้ตเสียงปาฬิ ชุด ส.ก. ชุดนี้ และขอเปิดงานการประดิษฐานพระไตรปิฎก
สัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. ชุด ส.ก. ณ บัดนี้.





มูลนิธิพระไตรปิฏก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น