พระราชดำรัส
พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต
วันจันทร์ที่
4 ธันวาคม 2538
ขอขอบใจ
นายกรัฐมนตรี 2 ที่ได้กล่าวคำอวยพรในนามของผู้ที่มาในชุมนุมนี้. ทั้งขอขอบใจ
ที่นำพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์มาให้. ที่ตั้งชื่อว่า พระนิรโรคันตรายนั้น
ก็เข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปที่จะคุ้มครองไม่ให้มีอันตรายทั้งหลาย โดยเฉพาะ
มิให้มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ซึ่งก็คงเป็นประโยชน์
เพราะว่าจำเป็นที่จะรักษาสุขภาพให้ดี.
นายกฯ
ได้กล่าวคำอวยพร และได้บรรยายความดีที่ข้าพเจ้าได้ทำมา. ก็ไม่ทราบว่าควรที่จะพูดเสริมเรื่องกิจการต่างๆ ที่ได้ทำมา
โดยที่ได้พูดมาแล้วเมื่อปีก่อน พอดีหนึ่งปีเต็ม. ตอนท้ายได้พูดว่า ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่ได้มาให้กำลังใจ
และให้ทุกๆ ท่านประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง. ความสำเร็จทุกอย่าง และให้มีความปรองดองกัน
เพื่อที่จะให้ส่วนรวมของเรา ก้าวหน้าเจริญได้ ทำให้แต่ละคนมีความเจริญก้าวหน้า
และมีความสุขไปด้วย.
แต่ว่าก่อนที่จะพูดเรื่องนี้ ก็ยังพูดว่า ปีหน้าคือปีนี้ถ้าอยากฟังจะพูดต่อ. ต้องหยุดเพียงแค่นี้
เพราะปีที่แล้วพูดมาก พูดมากจนได้ เล่มขนาดนี้ 3. ได้พูดว่า “ก็ต้องหยุดเพียงแค่นี้.
ถ้าอยากทราบเรื่องอะไรต่างๆ ต่อไปก็ให้มาปีหน้า จะอธิบายต่อ”. ได้พูดอย่างนี้
แต่รู้สึกว่าอธิบายต่อก็อาจจะไม่จำเป็น เพราะว่านายกฯ ก็ได้อธิบายมากมายแล้ว.
นี่เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับวันนี้เหมือนปีนี้
นอกจากวันในหนังสือนี้เป็นวันอาทิตย์ ปี ๒๕๓๗. วันนี้เป็นวันจันทร์ ปี ๒๕๓๘. ก็มีความแตกต่างกันอย่างนี้. ส่วนข้างในนี้ ถ้าจะถือว่าเอานี่เป็นคำพูดตอบนายกฯ ก็อาจจะได้
เว้นแต่ว่า เปลี่ยนจากท่านนายกฯ ชวน มาเป็นท่านนายกฯ บรรหาร. แต่ว่าพูดจบแค่นี้
ก็คงไม่คุ้มกับการที่ท่านทั้งหลาย
มาในที่นี้. มาคอยนาน ด้วยความเหน็ดเหนื่อย
ทั้งผู้ที่อยู่ข้างใน ทั้งผู้ที่อยู่ข้างนอก ฉะนั้นก็คงต้องพูดอะไรบ้าง.
ก็ขอเริ่มต้นด้วยการค้านท่านนายกฯ
นิดหน่อย. ท่านนายกฯ
ก็รู้สึกว่าเคยชินอย่างยิ่งที่จะค้าน และบัดนี้มาเริ่มเคยชินที่จะถูกค้าน. แต่ว่าจะต้องบอกว่ามีโครงการประมาณ ๒,๐๐๐ โครงการ เพื่อที่จะนำน้ำมาให้แก่ประชาราษฎร
ให้สามารถที่จะปฏิบัติงานตามอาชีพ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีน้ำ. แต่ในตอนท้ายท่านนายกฯ บอกว่า
น้ำมีมากเกินไป จนกระทั่งต้องสูบออกไปทิ้งทะเล. ดังนี้
ก็ไม่รู้จะเข้าใจอย่างไร ว่าน้ำนี่จำเป็นหรือไม่จำเป็น
น้ำนี้มีคุณหรือมีโทษ.
ตามความจริงน้ำ หรืออะไรทั้งหมด ทุกอย่างเป็นธรรมดา
ที่มีทั้งคุณและโทษ. ถ้าเราใช้ดีๆ
ก็เป็นคุณ ถ้าเราใช้ไม่ดีก็เป็นโทษ.
จะค้านว่าเราไม่ได้ใช้ให้น้ำมาท่วมเราก็จริง
แต่การที่น้ำมาท่วมเราก็เป็นความผิดของคนเหมือนกัน. บางทีควรจะกักน้ำเอาไว้เพื่อจะใช้ ก็ทิ้งน้ำลงไป. บางทีควรจะปล่อยน้ำออกไป
ก็กักเอาไว้
กักเอาไว้ไม่ใช่เฉพาะทำเขื่อนเก็บน้ำ แต่กักเอาไว้. โดยทำถนน
ขวางทางน้ำก็ตาม โดยทำบ้านจัดสรรก็ตาม โดยทำโรงงานก็ตาม
ซึ่งกั้นไม่ให้น้ำไหล.
ดังนั้นน้ำที่กักเอาไว้ก็ไปท่วมชาวบ้าน. อันนี้ไม่ดี ข้อนี้ก็ไม่อยากที่จะว่าท่านนายกฯ มากเกินไป
ท่านเหนื่อยเต็มทนแล้ว แต่ว่าการที่พูดอย่างนี้ ก็ต้องให้เข้าใจว่า
ถ้าอยากให้สิ่งทุกสิ่งเป็นประโยชน์จะต้องมีเหตุและผล.
อย่างเรื่องน้ำแห้ง
ก็เป็นความผิดของเรา ที่ทิ้งลงทะเลไปในเวลาที่ควรจะเก็บเอาไว้ แต่ถ้าเก็บเอาไว้
ก็อาจจะท่วมที่ชาวบ้าน.
อันนี้ก็เป็นปัญหาที่หนัก แต่หมายความว่า เราจะต้องบริหารน้ำให้ดี. อย่างเช่นที่ในปีนี้น้ำท่วมจริงๆ
เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้ที่ไปดู แม้ในจังหวัดใกล้เคียง
เช่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา.
รายงานว่า น้ำท่วมมากจนไม่เห็นดิน และไม่เห็นถนน
แต่เมื่อไม่กี่วันนี้มีคนไปดู เขาบอกว่าน้ำแห้งอย่างมหัศจรรย์. ก็ไม่รู้ว่าควรจะดีใจหรือไม่ดีใจ
คือว่าถ้าเราเห็นว่าน้ำท่วมเป็นของไม่ดี น้ำแห้งก็ต้องเป็นของดี. แต่ผู้ที่ไปดูนั้นเขาบอกว่าน่ากลัว
เพราะว่าดินแตกระแหงเหมือนไม่เคยมีน้ำมาอยู่เลย เหมือนเป็นที่ที่แห้งแล้ง
ที่เป็นทะเลทราย.
ดังนี้จะทำอย่างไรดี
เพราะว่าถ้าประชาชนอยากจะทำการเพาะปลูก ก็เพาะปลูกไม่ได้ ไม่มีน้ำใช้. ถึงได้พูดเมื่อปีที่แล้ว
และอันนี้จึงต้องพูดซ้ำในวันนี้ เพราะว่าที่ปีที่แล้วบอก
ตอนท้ายที่อ่านให้ฟังนั่นว่า “ถ้าอยากทราบอะไรต่อไป ก็มาปีหน้า”
คือปีนี้.
ตอนนี้ท่านก็ไม่ได้ถาม ไม่ได้มีใครถามว่าปัญหามีอะไร เงียบ
ไม่มีใครตั้งปัญหาอะไรเลย
แต่ว่าปัญหามี จึงจะขอเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้สักนิดหน่อย. แล้วท่านก็จะเข้าใจ
ความจริงไม่ต้องเล่าก็ทราบกันอยู่แล้ว.
ที่จะเล่าให้ฟังคือเรื่องโครงการเมื่อ
๔ ปี ที่ได้สร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ที่อยุธยา. ในแผนการมีอนุสาวรีย์ มีแท่น
แล้วก็มีช้าง สมเด็จพระสุริโยทัยประทับบนช้าง. และนอกจากนั้นก็มีเขตที่เป็นสวน ที่ปลูกต้นไม้
ที่มีอาคารสำหรับเป็นที่แสดงศิลปาชีพ. มีที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาชมวิว
และก็มีอ่างน้ำ.
ผู้วางผังเขาบอกว่าถ้ามีอ่างน้ำก็จะสวยงาม. เมื่อได้รับทราบแล้วก็ดูแผน ในที่ ๒๕๐ ไร่นั้น
เขาทำเป็นสระน้ำกว้าง ประมาณ ๕๐ ไร่.
ตกลงที่ดินที่เป็นอนุสาวรีย์กับสวน เป็นที่ ๒๐๐ ไร่ และมีสระน้ำ ๕๐ ไร่
รวมเป็น ๒๕๐ ไร่. เมื่อเห็นอย่างนั้นก็ไม่ค่อยจะพอใจนัก
แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร.
ในที่สุดก็กล้า คือต้องกล้า กล้าบอกว่าไม่ใช่
ไม่ใช่ความหมายของอนุสาวรีย์นี้.
หรือไม่ใช่แผนที่อยากจะให้ทำ อยากจะให้มีที่ที่เป็นน้ำ ให้สระน้ำนั้น
ใหญ่กว่าครึ่งของบริเวณ.
ในที่สุดผู้ที่วางแผนก็ยอม.
เหตุผลที่ทำอย่างนี้
เพราะว่าในอนาคตอาจจะมี ที่จริงก็มีน้ำท่วมทุกปี. และถ้ามีน้ำท่วม น้ำจะลงไปท่วมบ้านเมือง โดยเฉพาะอยุธยา
ลงมาถึง ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และลงไปทางสมุทรปราการ. ถ้าหากเราทำอ่างกักน้ำ
จะเรียกว่าอ่างเก็บน้ำก็ได้ แต่เป็นสระที่ใหญ่พอ เราสามารถที่จะกักน้ำเอาไว้
ซึ่งจะบรรเทาความเดือดร้อนของการที่มีน้ำท่วม และต่อไปเมื่อน้ำแห้งแล้ว
น้ำที่เราเก็บกักเอาไว้ในสระนั้น จะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรที่อยู่ใกล้เคียง.
จึงได้ปฏิบัติเช่นนั้น
เขาจึงได้สร้างสระนั้นให้โตขึ้น มีพื้นที่ถึง ๑๕๗ ไร่. ก็นับว่าดีกว่าที่คิดไว้เดิม ว่าขอเอาอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง (๑๒๕
ไร่).
ในที่สุด
ปีนี้น้ำก็ท่วมและเกิดระลึกขึ้นมาได้ ว่ามีโครงการนี้อยู่. จึงให้คนไปถ่ายรูป
มีหลายฝ่ายทั้งทางภาคพื้นดิน ทั้งทางอากาศ.
ในรูปได้เห็นว่ามีการสูบน้ำ ปลายหนึ่งของท่อจุ่มอยู่ในสระ
และดูดน้ำออกจากสระ. น้ำในสระนั้น
มีระดับวัดได้ ๓ เมตร ๕๐ เซนติเมตร.
แต่เมื่อดูแล้ว ข้างนอก น้ำขึ้นสูงไปมากกว่านั้น. จึงบอกให้ผู้ว่าราชการจังหวัด
สั่งหยุดสูบน้ำออกไป และถ้าอย่างไรให้เปิดประตูน้ำที่เป็นท่อ
และช่องที่เปิดน้ำให้เข้า-ออกได้ ให้น้ำเข้ามา. น้ำก็ค่อยๆ เข้ามาเอื่อยๆ
น้ำจึงขึ้นมาหน่อย.
แต่ว่าเข้ามาช้ามาก.
เขารายงานมาทางวิทยุว่า ข้างในน้ำสูงเท่านั้นๆ ข้างนอกสูงเท่านั้นๆ.
ก็ปรากฏว่าน้ำขึ้นจริงๆ.
ที่หลักวัดระดับน้ำนั้นจาก ๓ เมตร ๕๐ ขึ้นมาเป็น ๓ เมตร ๘๐. เขาก็ถามมาว่าพอหรือยัง. เราก็เลยต้องถามว่า ข้างนอกสูงเท่าไหร่. เขาก็บอกว่าไม่ทราบ. เราเลยถามว่า
ข้างนอกสูงหรือต่ำกว่าคันรอบอนุสาวรีย์นั้นและเท่าไหร่. เขาก็บอกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร หรือ ๓๐ เซนติเมตร จำไม่ได้แล้ว. และเราถามว่าข้างในเท่าไหร่.
เขาบอกห่างประมาณเมตรกว่า. ก็เลยบอกว่า ให้ฟันคัน
ให้ใช้รถตักที่เขาเรียกว่า แบ็คโฮ ตักคันที่กั้นน้ำนั้นให้น้ำเข้ามา. ผู้ว่าราชการจังหวัด 4 ก็บอกว่า “ผมทำไม่ได้
ผมคอขาดถ้าทำ.” ผู้ที่ไปก็บอกว่า “คุณต้องทำ
ถ้าไม่ทำผมเองคอขาด.” ก็ไม่ทราบว่าคอของใครมีราคามากกว่ากัน.
ในที่สุดก็เข้าใจว่าผู้ว่าราชการจังหวัดยอมคอขาด. แต่ที่จริง คอไม่ขาด เพราะว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยาเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริต
และได้ช่วยทุกอย่างให้พระนครศรีอยุธยามีความเจริญ. เป็นอันว่า เอารถ แบ็คโฮ
ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมาตักและขุดคัน. น้ำก็เข้ามา แต่เข้ามาไม่ทันใจ เลยขุดอีกหลายแห่ง
และในเวลาเดียวกันก็วัดระดับน้ำ. ปรากฏว่าระดับน้ำทางด้านตะวันออกคือ
น้ำที่มาจากแม่น้ำป่าสักสูงกว่าด้านที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ ๒๐
เซนติเมตร. ความรู้นี้
ไม่มีใครเคยรู้ว่า น้ำที่อยู่ในทุ่งด้านป่าสักมีความสูงกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา. และความรู้นี้ ทำให้เจ้าหน้าที่
รวมทั้งกรมชลประทานเกิดความรู้ว่า น้ำท่วมกรุงเทพฯ มาจากไหน และไปไหน.
ในที่สุดน้ำข้างในก็ขึ้น.
ข้างในสระระดับน้ำต่ำกว่ายอดคันประมาณ ๕๐ เซนติเมตร.
ด้านนอก (ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา) เหลือถึงยอดคัน ๕๐
เซนติเมตรเช่นเดียวกัน.
ส่วนด้านแม่น้ำป่าสักปรากฏว่าเหลือถึงคันประมาณ ๒๐ เซนติเมตรเท่านั้น. ก็หมายความว่า
ข้างนอกกับข้างในยังไม่เท่ากัน.
ก็บอกให้ทำต่อไปจนกระทั่งน้ำข้างนอกกับน้ำข้างในเท่ากัน. และวัดดูโดยต่อจากมาตรวัดน้ำ
ซึ่งทีแรกสูง ๔ เมตร. ต่อขึ้นมา ๕
เมตร ก็ท่วม ๕ เมตร จนกระทั่งขึ้นมาถึง ๕ เมตร กับ ๗๐ เซนติเมตร. เป็นอันว่า น้ำที่เข้ามาในบริเวณนั้นจากเดิม
๓ เมตร ๕๐ ขึ้นมาเป็น ๕ เมตร ๗๐.
และน้ำในสระนั้น แทนที่จะมีประมาณห้าแสน
ก็ขึ้นมาเกือบสองล้านลูกบาศก์เมตร.
เมื่อถึงขนาดนั้นแล้ว จึงสั่งให้ปิดได้.
ให้ปิดเพื่อที่จะเก็บน้ำนี้ไว้ข้างใน. วันรุ่งขึ้นไปวัดน้ำที่ในทุ่ง
ปรากฏว่าลดลงไป ๔ เซนติเมตร ทำให้ราษฎรเห็นว่า อนุสาวรีย์นี้ทำประโยชน์
และสมเด็จพระสุริโยทัยนี้เป็นวีรสตรีในอดีต กลับมาเป็นวีรสตรีในปัจจุบันด้วย. ฉะนั้นโครงการนี้ก็ได้ผลเต็มที่.
วันต่อมาได้มีการไปวัดระดับน้ำ. น้ำได้ลดลงไป ข้างในสระลดลงไปหน่อย
ข้างนอกลดลงไปมาก. แต่ข้างในก็ลดลงไป
๕๐ เซนติเมตร ก็ได้ทราบว่ามีชาวบ้านมาฟันคันให้น้ำออกเพื่อจับปลา.
ข้อนี้ทำให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนามาบอกว่า “อย่างนี้ต้องปิดป้าย อย่างที่เขาติดป้ายตามถนน ปิดป้ายว่า ‘ห้ามจับปลา’ และ ‘ห้ามฟันคัน.’
” แต่ต้องบอกกับเขาว่า สมัยนี้สมัยประชาธิปไตย ใครอยากได้ปลา
ก็ฟันเขื่อนเอาน้ำออกมาเพื่อจับปลา แต่มีคนอื่นเขาอยากได้น้ำนั้นเอาไว้
เพราะว่าต่อไป เขาอยากจะใช้น้ำเพื่อทำการเกษตร.
อย่างนี้ทำอย่างไร. นักประชาธิปไตยจะตอบว่าอย่างไร. แต่ความจริงจะต้อง“เรียกว่า” ชี้แจง. เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ว่า
การจับปลาวิธีนี้ไม่ดี.
ถ้าอยากจับปลา ก็อาจจะอนุญาตให้มาทอดแหจับปลาได้.
แต่ว่าการจับปลาโดยที่ทำให้น้ำที่เก็บเอาไว้ด้วยความลำบากยากเย็นนี้
เสียไปเปล่าๆ ก็น่าเสียดาย.
ฉะนั้นก็ควรจะอธิบายว่า น้ำนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ
ไม่ใช่สำหรับคนอื่น สำหรับประชาชนเอง. จึงอธิบายและรู้สึกว่าประชาชนก็เข้าใจ. เดี๋ยวนี้น้ำก็ยังอยู่ในระดับสูง
ตอนหลังสุดได้รับรายงานว่าน้ำสูง ๕
เมตร ๒๐ หมายความว่าลดไป ๕๐ เซนติเมตร.
ในเดือนสองเดือนข้างหน้า ก็คงลดไปอีก เพราะว่ามีการระเหย
หรือการรั่วบ้าง.
แต่อย่างไรก็ตามจะมีน้ำนี้เอาไว้ใช้ได้.
อันนี้เป็นเรื่องเหมือนนิทานตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบันคือเรื่องวีรสตรีแห่งชาติ. นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องคิดถึง
แม้เป็นส่วนเล็กน้อย
แต่ว่ามีส่วนอื่นที่จำเป็นจะต้องทำเหมือนกัน. ฉะนั้นตามที่นายกฯ ได้กล่าวถึงทฤษฎีใหม่
ก็ทำเพื่อจุดประสงค์อย่างนี้นี่เอง.
เพราะว่าในประเทศอย่างประเทศไทย น้ำจะมีมากเป็นระยะหนึ่ง จนน้ำท่วม
จนกระทั่งทำให้เดือดร้อน ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเสียไป ตายไป เน่าไป. และเมื่อเสร็จแล้ว หลังจากระบายน้ำออกไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย
และด้วยความสิ้นเปลือง ก็แห้ง ไม่สามารถที่จะทำการเพาะปลูกใดๆ เลย ก็อดอยาก ยากจน.
ฉะนั้นจึงทำทฤษฎีใหม่เพื่อที่จะให้ประชาชนมีโอกาสทำเกษตรกรรมให้พอกิน. ถ้าน้ำมีพอดีในปีไหน
ก็สามารถที่จะประกอบการเกษตร หรือปลูกข้าว ที่เรียกว่านาปีได้. ถ้าต่อไป ในหน้าแล้ง น้ำมีน้อย
ก็สามารถที่จะใช้น้ำ ที่กักไว้ในสระเก็บน้ำของแต่ละแปลงมาทำการเพาะปลูก
แม้แต่ข้าวก็ยังปลูกได้.
ไม่ต้องไปเบียดเบียนชลประทานระบบใหญ่ เพราะมีของตัวเอง. แต่ก็อาจจะปลูกผักหรือเลี้ยงปลา
หรือทำอะไรอื่นๆ ก็ได้.
ทฤษฎีใหม่นี่มีไว้สำหรับป้องกันความขาดแคลน
ในยามปกติก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น. ในยามที่มีอุทกภัย ก็สามารถที่จะฟื้นตัวได้เร็ว
โดยไม่ต้องให้ทางราชการไปช่วยมากเกินไป.
ทำให้ประชาชนมีโอกาสพึ่งตนเองได้อย่างดี. ฉะนั้นจึงได้สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่.
ความจริงทฤษฎีใหม่นี้ก็ได้ชี้แจงเมื่อปีที่แล้วอย่างละเอียด และใน
หนังสือเล่มนี้ 5
ก็มีเรื่องทฤษฎีใหม่ ตั้งแต่ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ และขั้นที่
๓.
อันนี้เอาไว้ไปพิจารณาเมื่อได้รับทราบข้อความที่มีอยู่ในเล่มนี้
อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะติดตาม เพราะว่าการทำทฤษฎีใหม่นี้มิใช่เป็นของที่ง่ายๆ
แล้วแต่ที่ แล้วแต่โอกาส และแล้วแต่งบประมาณ. เดี๋ยวนี้ประชาชนทราบถึงทฤษฎีใหม่นี้อย่างกว้างขวาง. และแต่ละคนก็อยากได้
ให้ทางราชการขุดสระแล้วช่วย.
แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ง่ายนัก
บางแห่งขุดแล้วไม่มีน้ำ แม้จะมีฝน น้ำอยู่ไม่ได้ เพราะว่ามันรั่ว. หรือบางทีก็เป็นที่ที่รับน้ำไม่ได้.
ทฤษฎีใหม่นี้จึงต้องมีที่ที่เหมาะสมด้วย. อย่างเช่นที่ได้ทำที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์.
ที่นั้นได้ทำ
๓ ปีมาแล้ว และได้ผลดีจนกระทั่งประชาชนอยากได้มากขึ้น. แต่เราทำไม่ค่อยได้ เพราะต้องคอยทำอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่พอสมควร
เพื่อป้อนสระที่อยู่ในแปลงของราษฎร.
อ่างเก็บน้ำนี้ก็สร้างเสร็จแล้ว.
จุได้ถึง ๓ ล้าน ๕ แสนลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้ยังกักน้ำไว้ได้เพียง ๒ ล้าน ๕
แสนเพราะว่าเพิ่งเสร็จ.
ปีหน้ามีหวังจะกักน้ำได้มากขึ้น เพราะทำระบบที่จะผันน้ำ มาจากอ่างเก็บน้ำ
ซึ่งไม่มีที่ที่จะทำการเพาะปลูก จะผันมาที่อ่างเก็บน้ำนี้ที่ได้ทำให้จุ ๓ ล้าน ๕
แสน. อาจจะขึ้นมาถึง ๔ ล้าน ๕
แสนก็ได้. จากอ่างเก็บน้ำนั้น
ก็มาแจกจ่ายในพื้นที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่. ตามปกติ ถ้าทำในระบบปกติที่เคยทำ จะเลี้ยงที่ได้เพียง ๒,๕๐๐ ไร่ แต่ทำแบบนี้ คือตามทฤษฎีใหม่จะเลี้ยงได้ถึงหมื่น
หรืออาจจะมากกว่าหมื่นไร่ด้วยซ้ำ.
อย่างไรก็ตาม
การที่ปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่ หรืออีกนัยหนึ่ง
ปฏิบัติเพื่อหาน้ำให้แก่ราษฎรเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ง่าย ต้องช่วยกันทำ.
ปีที่แล้วได้บอกว่าจะมาพูดเสริม หรือพูดเพิ่มเติม
ถ้าใครมีความประสงค์ที่จะอยากทราบ.
แต่ก็ไม่ทราบว่า ผู้ใดอยากทราบอะไร.
อ่านใจไม่ได้ว่าท่านมีคำถามอะไร แต่ว่าตะกี้ ท่านนายกฯ บอกว่าข้าพเจ้าได้ไปดูถนน
ดูว่าถนนไหนควรจะทำอะไร. อันที่จริง
เรื่องนี้ ตอบลำบาก เพราะว่าปีนี้ดูถนนไม่ได้ มีแต่น้ำ ก็เลยดูถนนไม่ได้. ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ ท่านทำอย่างไร ท่านได้แล่นรถไปก็ต้องฝ่าน้ำไป
อาจจะรู้ว่าถนนตรงไหนดีหรือไม่ดี แต่ว่าคนธรรมดานั้นจะดูไม่ได้ เพราะว่าถนนมันถูกน้ำท่วม
จึงแก้ปัญหาจราจรไม่ได้.
แต่อย่างไรก็ตาม เราจะต้องปฏิบัติ.
และถ้ามีคำถามใดในสมองของท่าน ก็นึกว่าคงจะมีคำตอบ.
อนึ่งที่พูดปีที่แล้ว
มีส่วนหนึ่งเป็นการโฆษณา ปีที่แล้วโฆษณาเรื่องหนังสือที่ได้เขียน
และออกมาขาย. ก็ได้ผลดีเพราะว่า
ขายได้จำนวนหลายหมื่นเล่ม.
ปีนี้ท่านคงนึกว่าจะต้องโฆษณาต่อ ที่จริงก็อยากจะโฆษณาต่อเหมือนกัน
แต่เดี๋ยวถูกหาว่าเฝือ หาว่าเมื่อมาพูดกับท่าน ก็ถือโอกาสโฆษณา. ที่จริงมีที่จะโฆษณา แต่อาจจะยั้งๆ
ไว้ก่อนดีกว่า เพราะว่าถ้าโฆษณา เดี๋ยวถูกกล่าวหาว่าหาเงินเรื่อย. ไม่ใช่ เรามีโครงการที่กำลังทำอยู่
ก็น่าสนใจเหมือนกัน.
แต่สำหรับเรื่องนี้ ความจริงไม่ต้องโฆษณา
เพราะว่าเหตุการณ์มันได้เกิดขึ้นแล้ว และมีการโฆษณามาแล้ว.
หันมาอีกเรื่องหนึ่งคือตลอดปีที่ผ่านมา
ที่จริงบอกได้ว่าเป็นปีที่ค่อนข้างจะหนัก ค่อนข้างจะเดือดร้อน เดือดร้อนเอาจริงๆ คือว่า
เดือดร้อนจนกระทั่งทำอะไรไม่ค่อยได้
เพราะว่าที่ท่านมานั่งอยู่ที่นี่เป็นพื้นที่ที่เกิดเรื่อง.
เรื่องมีอยู่ว่าเรากำลังเดินออกกำลังอยู่รอบๆ แถวๆ นี้ ที่ท่านนั่งอยู่
ตรงนี้ 6 เราก็เดินรอบ
แต่ท่านทั้งหลายไม่อยู่.
เดินไปเดินมา รู้สึกมันอึดอัดเข้าทุกที คนถ้าเห็นก็คงบอกว่าหน้าซีด ก็คงซีด
เดินไปเดินมา เอ๊ะ! เดินไม่ไหวแล้ว.
ก็เข้าไปนั่งอยู่ในห้องข้างหลังนี่
หมอก็วัดความดันโลหิต มันก็ขึ้นไปสูง และไม่ยอมลง. ทำไปทำมา ก็ปรากฏว่าเลือดไม่เดิน. เมื่อเลือดไม่เดิน
ผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์อย่างนี้ ก็คงทราบว่ามันเดือดร้อนแค่ไหน. แต่ในที่สุดก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์
ซึ่งแต่ก่อนก็ไม่เคยนึกว่าจะเป็น แต่ก็เป็น ก็เลยต้องเข้า โรงพยาบาล 7
ในเวลานั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ท่านก็อยู่โรงพยาบาล เพราะว่าทรงมีปัญหาเรื่องพระสุขภาพ. ก็เข้าไปเฝ้า. ตอนแรกนั้นไปเฝ้าไม่ไหว ไม่รู้เรื่อง. เมื่อทราบว่าจะต้องทำปฏิบัติการของแพทย์
แพทย์ก็นำกระดาษชิ้นหนึ่งมา อ่านก็ไม่ค่อยทราบว่าเป็นอะไร แต่ใจความมีว่า
ให้อนุญาตให้ปฏิบัติการ แล้วให้ลงชื่อ
แต่หมอไม่ได้บอกให้ลงชื่อ เลยไม่ได้ลง. เมื่อไม่ได้ลงชื่อเขาก็จะทำไม่ได้.
เขาก็ไปถวายสมเด็จฯ ท่าน. สมเด็จฯ
ท่านไม่ทรงสบายอยู่แล้ว แต่ว่าท่านก็ลงพระนามยินยอมให้แพทย์ปฏิบัติการ. เป็นอันว่าแพทย์ก็ปฏิบัติการ.
เมื่อปฏิบัติการเสร็จแล้ว และรู้ตัวขึ้นมาแล้ว โอ๊ย! สบาย. สบายขึ้นมาก หายใจออก ตาก็สว่าง. เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว
สมเด็จพระบรมราชชนนี ก็ให้นายแพทย์ประจำพระองค์เข็นรถของท่านเข้ามา
และท่านก็ยิ้ม. แล้วเข้ามาบอกว่า “เอ้อ! ดีใจ ดีใจว่าแข็งแรงดีแล้ว.” หลังจากนั้นก็ได้พักผ่อนในโรงพยาบาลอีกระยะหนึ่ง
จนกระทั่งแพทย์เห็นว่า ควรจะกลับบ้านได้.
ก็ได้ทูลถามสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า ท่านเองจะเสด็จกลับเมื่อไหร่. ท่านบอกว่า “โอ๊ะ!
หมอบอกว่าจะกลับเมื่อไหร่ก็ได้แล้ว แต่คอย คอยออกไปพร้อมกัน.” ท่านบอกว่า “แม่-ลูกจะได้ออกพร้อมกัน
เอ้อ! ดี.” ในที่สุด ก็ออกจาก โรงพยาบาล 8 ไปส่งเสด็จที่วังสระปทุมก่อน แล้วกลับมา
ที่นี่ 9 กลับมาพักผ่อนระยะหนึ่ง.
ระยะเวลานี้ไม่ค่อยได้ไปเฝ้า
เพราะยังเพลียอยู่ แต่ก็สบายขึ้นมาก.
มาตอนหนึ่ง หมอแจ้งมาทางโทรศัพท์ว่า สมเด็จฯ ท่าน พระอาการไม่ดี
ก็รีบไปเฝ้า. ไปเฝ้าแล้วก็เห็นว่าพระอาการดีขึ้นบ้าง. ท่านลืมพระเนตรขึ้น.
ท่านเห็น “เออะ! กลับบ้านไปเสียที มาอยู่นานแล้ว.” ก็กลับบ้าน. แต่วันรุ่งขึ้นหมอก็บอกว่าไม่ดี
ต้องเข้าโรงพยาบาล. ก็ให้ท่านไป โรงพยาบาล 10 และไปเฝ้าที่โรงพยาบาล.
หลังจากนั้นก็ไปเฝ้าที่โรงพยาบาลเกือบทุกวัน
และพระอาการก็ไม่ค่อยดีนัก.
ในที่สุด พระอาการไม่ดีขึ้น หมดหนทางที่จะถวายเยียวยา. หมอเขาทำเต็มที่ ก็เยียวยาอะไรไม่ได้
จนสวรรคตแต่ว่าเมื่อสวรรคต. ก็ดีใจอยู่อย่างว่า ลูกของท่านทั้งสองก็อยู่ด้วย
จับพระหัตถ์อยู่. และหลานที่ท่านรักที่สุด “เพราะว่าท่านเลี้ยงมา
แล้วหลานนั้นก็เลี้ยงท่าน” ก็มาจับพระหัตถ์ด้วย. ก็สามคน. ท่านก็ สวรรคตอย่างสงบ 11
เป็นอันว่าปีนี้มีเหตุการณ์ไม่ดี
หรือหนักอยู่มากอยู่. แต่ว่าสมเด็จฯ
ท่านเคยรับสั่งนานมาแล้วอย่างน้อยสิบปี รับสั่งว่า “แม่นี่น่ะ
เกิดมานานแล้ว ก็แก่มากแล้ว.”
ตอนนั้นแก่มากคือ ๘๐ กว่า. ก็นับว่าแก่.
แต่ทูลว่า “แก่อย่างนี้ดี ยิ่งแก่ยิ่งดี
เพราะว่าลูกหลานนี่น่ะ ถ้าพ่อหรือแม่แก่ ก็เป็นกำลังใจสำหรับลูกหลาน ว่าเรามีแม่ที่อายุยืน
เราก็คงอายุยืนเหมือนกัน.
มีแม่ที่แข็งแรง เราก็คงแข็งแรงเหมือนกัน.” ก็เลยทูลว่า “แม่ต้องรักษาตัว.
ทูลว่าแม่ต้องเสวย.
เพราะตอนนั้นเสวยนิดเดียว ก็บอกว่าอิ่มแล้ว.” ท่านก็ผอมลงทุกที หมดแรง ไม่หิว. แล้วก็รับสั่งว่า “แก่แล้วจะอยู่ทำไม.” ก็ทูลว่า “อยู่สิเป็นประโยชน์ เป็นกำลังใจสำหรับลูกหลาน.” และนอกจากนี้ท่านรับสั่งว่า
“เวลาไปที่เขื่อนหรือที่ไหน ทำให้คนเขาเดือดร้อน ต้องมาเฝ้า.” เลยทูลว่า “ขอรับรองว่าเจ้าหน้าที่ เขายินดี ทรงเป็นกำลังใจให้เขา.” เขาถึงเรียกท่านว่า สมเด็จย่า
ในที่สุดทรงฟัง แล้วเริ่มเสวย ก็แข็งแรงขึ้น.
ทรงแข็งแรงขึ้นเป็นลำดับจนถึงคราวที่ประชวรเมื่อ ๔ ปีที่แล้ว
ต้องเสด็จประทับโรงพยาบาล.
ก็ไปเฝ้าเกือบทุกวัน. เมื่อ ๔ ปีนั้นกำลังสร้าง อนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย
12. วันหนึ่ง ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เสร็จแล้วก็รีบวิ่งรถ
ไปเฝ้าที่โรงพยาบาลศิริราช.
ก็พอดีทันเวลาเสวย.
ท่านรับสั่งว่า “อ้า! ตะกี้อยู่ที่โน่น มาแล้วหรือ.” ก็บอกว่ามาแล้ว.
ก็ถวายให้เสวย. เสวย
ก็ทรงแข็งแรงขึ้น. จนกระทั่งอยู่อีก
๔ ปี. เป็นกำไรที่ได้.
ท่านเข้าพระทัยแล้วว่ายิ่งแก่ยิ่งดี.
สำหรับแม่หรือใครๆ ที่เรานับถือ เรารัก ถ้าผู้นั้นอายุมาก และโดยเฉพาะอย่างท่าน
ถ้าท่านทรงแข็งแรง ท่านรับสั่งรู้เรื่อง ทำงานอะไรๆ ได้ ก็มีประโยชน์.
ท่านทรงมีประโยชน์
เมื่อสวรรคต ก็ทำตามที่ท่านรับสั่งไว้ว่า “แม่แก่แล้ว
จะตายเมื่อไหร่ก็ได้. ตายแล้ว
ห้ามร้องไห้. ไม่ให้ร้องไห้
เพราะเป็นของธรรมดา. คนเราก็ต้องตาย.” แต่ว่าตอนหลังนี้ ที่เห็นท่านทรุดลง ทรุดลง
ก็รู้สึกว่าท่านจะอยู่ไม่ได้ แต่ก็ไม่อยากให้ท่านสิ้น. อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นก็เป็นของธรรมดา ที่เราอาลัย. เป็นของธรรมดาเหมือนกัน.
ฉะนั้นเมื่อท่านสิ้นแล้ว
และได้เห็นความรัก ความนับถือ ที่คนทั้งชาติมีต่อท่าน ก็ปลื้มใจ. ปลื้มใจว่ามีแม่ที่คนรัก
ที่ถือว่าท่านเป็นสมเด็จย่า.
ซึ่งก็แปลกดีเหมือนกัน. ถ้าใครต่อใครเรียกว่า สมเด็จย่า คนที่เรียกสมเด็จย่า
ก็เป็นหลานๆ ของเรา เป็นหลาน เพราะว่าท่านเป็นแม่. แล้วท่านเป็นย่าของคนทั่วๆ ไป และเป็นสมเด็จย่าของลูกๆ
ที่อยู่ข้างหลังนี้.
ฉะนั้นเราก็เป็นญาติกันทั้งหมดแล้ว.
แต่อย่างไรก็ตามทุกคนก็รู้สึกว่ามีความอาลัย
และทำให้ประชาชนทั้งชาติได้มีโอกาสแสดงความอาลัย. เป็นประโยชน์
จะว่าครั้งสุดท้ายของท่าน ที่จริงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ท่านยังเป็นประโยชน์ต่อไปชั่วกาลนิรันดร์. ที่ว่าเป็นประโยชน์
เพราะว่าชาวต่างประเทศทุกชาติ ทุกภาษา
เมื่อมาเห็นว่าเมืองไทยมีเหตุการณ์เช่นนี้แบบนี้ และการแสดงคารวะบุคคลที่ควรคารวะ
ต่างประเทศแม้จะไม่ชอบเมืองไทย เขาก็ต้องชอบ. เขาจะต้องบอกว่า เมืองไทยนี่มีอะไรแปลก และเมืองไทยก็แปลกจริงๆ
ที่มีสภาพอย่างนี้.
ฉะนั้นถึงว่าท่านที่มานั่งอยู่ที่นี้ มีคนหน้าเก่าบ้างหน้าใหม่บ้าง
แต่ก็มานั่งอย่างมีจิตใจ อย่างที่เคยพูดเมื่อปีที่แล้วเมื่อ ๒ ปี เมื่อ ๓ ปี เมื่อ
๔ ปี ที่แล้ว คือคนไทยมีความรู้สึกที่แตกต่างกับหลายประเทศ.
มาตอนนี้ก็ขอเท้าความไปถึงปีที่แล้ว. อย่างหนึ่งที่พูด
คือการโฆษณาหนังสือ.
ได้บอกว่าสถานการณ์ในประเทศนั้นไม่ดี และที่ต้องโฆษณา
เพราะว่าถ้าประเทศนั้น เขาปรองดองกัน เขามีสันติภาพ เขาสงบ หนังสือเล่มนี้ก็จะไม่ค่อยน่าสนุกเลย
หนังสือเล่มนี้จะขายไม่ออก.
เราก็ใจร้ายนิดหน่อย โดยที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้จะขายได้ดี
เพราะเขาตีกัน.
ถึงแปลเป็นภาษาไทย.
อยากให้คนไทยเห็นว่า ถ้าเราทำดีๆ เราจะไม่เป็นเหมือนเขา. จะต้องย้ำคำว่า ไม่
เพราะเดี๋ยวบอกว่าไม่ได้ใช้คำว่า ไม่.
เราจะไม่ เป็นอย่างเขา.
เราก็ยังไม่เป็นอย่างเขา. เพราะเหตุว่าเราไม่เหมือนเขา. คนที่มีความคิดแตกต่างกันก็มี
เถียงกันก็มี จนหน้าดำหน้าแดงก็มี.
แต่ในที่สุดก็เป็นคนไทยด้วยกัน ถ้าถึงเวลาที่จะป้องกันประเทศ
หรือถึงเวลาที่จะช่วยสงเคราะห์ประชาชนที่ประกอบขึ้นมาเป็นประเทศ เราก็ช่วยกันทำ.
ประเทศที่เป็นวัตถุแห่งหนังสือเล่มนั้น
เดี๋ยวนี้ก็ดูจะดีขึ้น เพราะว่าเขามีการตกลงว่าจะให้มีความสงบ. ประเทศต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ประเทศในยุโรป
ในอเมริกา เขาก็บอกว่าเดี๋ยวนี้ตกลงกันแล้ว จะมีความสงบ. ไอ้ตกลงน่ะตกลง. แต่ข้อตกลงนั้นยังไม่ปฏิบัติ. ความสงบมีอยู่แต่ในข้อตกลง. แต่ก็ยังไม่สงบ และอีกนานกว่าจะสงบ. อันนี้ไม่ใช่แช่ง เขาทำเอง
เป็นเรื่องของเขา.
ฉะนั้นหนังสือเล่มนี้ ถ้าใครยังไม่ได้ซื้อก็ควรจะซื้อ ยังไม่พ้นสมัย.
ปีที่แล้วบอกให้อ่านหนังสือเล่มนี้
เพราะว่ามีเมืองบิฮัช ที่จริงบิฮัชนี่ไม่มีใครรู้จัก. เชื่อว่าก่อนที่ได้พูดเมื่อปีที่แล้ว จะมีซัก ๑ เปอร์เซ็นต์
หรือครึ่งเปอร์เซ็นต์ ที่รู้ว่าบิฮัชอยู่ที่ไหน. เมื่อซื้อหนังสือแล้ว
ก็ดูชื่อว่าบิฮัชอยู่ที่ไหนได้.
เปิดวิทยุ - โทรทัศน์ ข่าวมาจากต่างประเทศ โผล่ขึ้นมาแล้ว ชื่อ บิฮัช. “โอ๊ะ!
นี่เองที่อยู่ในหนังสือของพระเจ้าอยู่หัว อันนี้เองบิฮัช. โอ๊ย! ตีกัน โจมตีกัน.” ก็หมายความว่า เราก็ใจร้าย ดีใจที่เขาโจมตีเมืองบิฮัช
เพราะจะได้แสดงให้เห็นว่าหนังสือนี้ศักดิ์สิทธิ์ หนังสือนี้ตรงกับความจริง
ว่าเขาโจมตีกันที่บิฮัช.
เลยทำให้ท่านผู้อ่านรู้สึกสนุกว่าอยู่ในเหตุการณ์. ทำให้สำนึกว่า เมืองไทยนี้ไม่มี บิฮัช
ยังไม่มีและจะไม่มีบิฮัช. อาจจะมีอย่างอื่น
แต่ไม่มีบิฮัช.
ฉะนั้นที่บอกว่าไม่โฆษณา ก็ต้องโฆษณาต่อ เพราะว่าเป็นความผิดของเขาเอง
ความผิดของเมืองที่เขาตีกัน.
เราอย่าให้เป็นเมืองที่เขาจะรู้จักเพราะตีกัน.
ที่จะโฆษณาต่อไปอาจจะไม่จำเป็นที่จะโฆษณา. เมืองไทยนี้วิเศษจริงๆ
แต่ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น.
น้ำท่วมนี่ รู้สึกเดือดร้อนกันมาก และไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ
และปริมณฑลที่เดือดร้อน มีตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงภาคใต้ ภาคอีสานก็มี. แต่ว่าที่เดือดร้อนที่สุด เพราะอยู่ใกล้ที่นั่งของเรา
ที่เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ ก็คือกรุงเทพฯ.
เดือดร้อน แต่เรื่องมันไม่มากนัก เพราะมีสิ่งที่ช่วย.
เมื่อน้ำท่วมอยู่
จวนจะแห้งแล้ว ทางกรมอุตุนิยมฯ โดย นายสมิทธ ธรรมสโรช 13 ได้ส่งพยากรณ์อากาศมาให้
และเขียนไว้เป็นโน้ต บอกว่า “กรมอุตุนิยมฯ
ถวายเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ และเกี่ยวกับการพยากรณ์การเคลื่อนไหวของพายุ.”
เปิดดู เขาบอกว่า “ถวายต่อด้วยเพื่อทรงพิจารณา.” หมายความว่า กรมอุตุนิยมฯ
มาใช้เราเป็นผู้พยากรณ์.
ก็เป็นเกียรติ. เขาเขียนว่า “เพื่อทรงพิจารณา.” ดูแล้วก็หนักใจอยู่ เพราะว่าดูในแผนที่อากาศ พายุแอนเจลล่า อ้วนจ้ำม่ำ
อ้วนเหมือน แอนเจลล่า ในการ์ตูน.
ไม่ทราบว่าท่านทั้งหลาย เคยเห็นหรือเปล่า แอนเจลล่าที่เป็นอริกับ
ป๊อบอาย. คือในการ์ตูน ป๊อบอาย มี
แอนเจลล่า ตัวอ้วนเบ้อเร่อ เป็นอริของป๊อบอาย. นี่ละกำลังมาเป็นอริกับเรา.
คุณสมิทธก็บอกว่า
แอนเจลล่า นี่เป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น น่ากลัว คร่าชีวิตในฟิลิปปินส์
ดูเหมือนเป็นพันกว่า. ผ่านมาแล้ว
มาในทะเลจีนใต้.
ตามธรรมดาเวลาพายุผ่านฟิลิปปินส์มาแล้วต้องผอมลง แต่ “คุณแอนเจลล่า” นี่
อ้วนขึ้นเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น.
เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร. ได้รับพยากรณ์อากาศนั้น ตอนบ่าย ก็บ่ายแก่ๆ. มาดู เอ๊! เราจะทำอย่างไร. ก็ดู มาถึงประมาณตีหนึ่งแล้ว
ก็รู้สึกว่าต้องใช้ ไอที (IT) หน่อย ใช้ Information
Technology. เราก็ใช้
Information technology. เอ๊! รู้สึกว่า แอนเจลล่าจะแพ้แรง. จะต้องบอก ต้องเผยให้ทราบว่า แพ้แรง นางมณีเมขลา. ท่านทั้งหลายก็คงเข้าใจ คงรู้จัก นางมณีเมขลา
พอสมควรแล้ว.
ก็เลยบอกไปตอนตีหนึ่งว่า “ให้บอกกรมอุตุนิยมฯ ว่า
พรุ่งนี้ ‘จะหมายถึงพรุ่งนี้แบบไทยหรือพรุ่งนี้แบบฝรั่งก็ไม่ทราบ’
แต่ว่าพรุ่งนี้จะกลายเป็นดีเปรสชั่น จากซุปเปอร์ไต้ฝุ่นนี้
จะกลายเป็นดีเปรสชั่น. และต่อไปอีกสองวัน จะเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่จะอยู่แถวๆ
ไหหลำ หรือเข้าไปเมืองจีน.” ก็ตอบข้อพิจารณาอย่างนี้
วันรุ่งขึ้นก็ดูไอที
(IT) ต่อไป. เอ๊! ดีนะ
ที่เราพูดนั้นน่ะ นับว่าถูกต้องพอสมควร.
แต่ว่าทางวิทยุ พวก ซี เอ็น เอ็น (CNN) พวก บี บี ซี
(BBC) เขาก็ยังบอกว่าเป็นไต้ฝุ่น. วันรุ่งขึ้น
ก็เป็นไต้ฝุ่น. วันต่อไปก็เป็น
ซีเวียร์ ทรอปิคอลสตอร์ม (Severe Tropical Storm) เป็นพายุโซนร้อนที่รุนแรง
แต่ดูไม่รุนแรง. เราก็ยืนยันว่า เมืองไทยไม่เป็นอะไร. แล้วในที่สุดท่านทั้งหลายเจอ แอนเจลล่า ที่ไหน? ก็คงไม่ได้เจอ.
บินเดินทางไปที่โน่นที่นี่ ก็ไม่ได้เจอ “คุณแอนเจลล่า”เลย. “คุณแอนเจลล่า” ไม่เข้า.
แต่คุณสมิทธฯ บอกว่าเข้า.
ขอโทษคุณสมิทธ คุณสมิทธ วันก่อนนี้มาพบ แล้วถามว่าทำอย่างไร. ก็เลยบอกว่ามอบให้ นางมณีเมขลา ไปเจรจา
ก็ได้ผลดี. ถ้ามาแบบที่เคยมา
เพราะเคยมีไต้ฝุ่นใหญ่ทะลุเข้าเวียดนามมา แล้วเข้ามาในเมืองไทย ผ่านแถวมุกดาหาร
หรือแถวอุบล ถ้าเข้ามาน่าจะพัง พังจริงๆ.
แต่คราวนี้ไม่เป็นอะไร.
ตอนนี้จะโฆษณา
มณีเมขลา สำนักงานมณีเมขลา นี้
ท่านทราบแล้วว่า ได้แถลงอาการพระประชวร.
ก็คงนึกว่าสำนักงานนี้เป็นอะไรแน่.
เป็นสำนักงานอุตุนิยมฯ มีฐานที่ตั้งอยู่ที่เขาพระสุเมรุ. ก็ถามว่าเขาพระสุเมรุอยู่ที่ไหน. ก็มีแผนที่ให้ ในหนังสือเล่มนี้มี
สำนักงานมณีเมขลา และเขาพระสุเมรุอยู่ที่นี่เป็นที่ตั้งของ สำนักงานมณีเมขลา. แต่ที่จริง สำนักงานมณีเมขลา นี่
เป็นส่วนหนึ่งของ สำนักงาน ฝล. ท่านคงยังไม่เคยทราบว่า สำนักงาน ฝล. นี้คืออะไร. สำนักงาน ฝล. คือ นี่ 14 นี่เป็นเครื่องหมายของ สำนักงาน ฝล. ท่านอาจจะเห็นไม่ชัด. สำนักงานมณีเมขลา
เป็นส่วนหนึ่งของ สำนักงาน ฝล..
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ
นางมณีเมขลา นี้เป็นตัวละครสำคัญในหนังสือเล่มใหม่. เริ่มโฆษณาอีกแล้ว.
หนังสือเล่มใหม่ที่จะออกในโอกาส ๕๐ ปี กาญจนาภิเษก เป็นหนังสือที่กำลังทำ
หวังว่าจะทำเสร็จทันสำหรับฉลอง.
คือว่าหนังสือเล่มนี้ไม่เหมือนหนังสือ ติโต หรือหนังสือ นายอินทร์ฯ. หนังสือ นายอินทร์ฯ
นั้นค่อนข้างจะดุเดือดในทางราชการลับ.
หนังสือ ติโต เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับสงครามเหมือนกัน
เกี่ยวข้องกับการต่อสู้.
แต่หนังสือใหม่นี้ยังไม่บอกชื่อ มีบางคนเขาบอกว่าควรจะโฆษณา
แต่รู้สึกไม่จำเป็นที่จะโฆษณา เพราะว่าเป็นหนังสือที่น่าดูมาก เอาไว้ดูเอง.
ในหนังสือนี้ นางมณีเมขลา เป็น จะว่าเป็นนางเอกก็ไม่ใช่ ไม่เชิง
แต่ว่าเป็นตัวสำคัญ.
ในรูปนี้
15 ก็เห็นว่า
มีเรือที่แล่นในมหาสมุทรอินเดีย. แล้วนี่เป็นเส้นที่เกี่ยวข้องกับลม
เป็นเรื่องอุตุนิยมฯ และตรงนี้ก็มีดวงของวัน. อันนี้เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๗
ที่ตอนนั้นแห้งแล้ง เขาบอกว่าจะเล่นสงกรานต์ไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำ. แต่ว่าไปติดต่อ นางมณีเมขลา. นางมณีเมขลา ก็บันดาลให้มีฝน. และนี่เป็นแผนที่ของคุณสมิทธเอง
เป็นอย่างนี้จริงๆ คุณสมิทธจะต้องรับรอง ว่าแผนที่นี่ไม่ผิด ถูกต้อง สำหรับวันที่
๑๕. และดวงนี้ก็เป็นดวงของวันที่ ๑๕
เมษาฯ. อันนี้เป็นปี ๒๕๓๗ แต่ว่าในเรื่องนั้น ไม่ใช่ ปี ๒๕๓๗
ไม่ทราบว่าปีอะไร แต่ก็เป็นในระยะเดียวกัน.
นางมณีเมขลา ก็เป็นตัวสำคัญ ในเรื่องของทะเล มหาสมุทรอินเดีย ทะเลอันดามัน
และประเทศไทย ซึ่งเขาเรียกว่า สุวรรณภูมิ.
ตอนนี้ก็พูดเรื่องเมืองไทยถูกน้ำท่วม
แต่ถ้าหากว่าไม่มีสิ่งที่ดี ที่ช่วย ที่ป้องกัน ป่านนี้ คงยังจมน้ำอยู่
เพราะว่าพายุอย่าง คุณ แอนเจลล่า นี่ก็จะต้องเข้ามา. ตอนนี้ที่จริงอยากจะพูดสักหน่อยในเรื่องนี้
แต่พูดมามากแล้วเกือบทุกวันที่ สภากาแฟ. สภากาแฟ
นี่ท่านทั้งหลายอาจจะไม่เข้าใจว่าเป็นอะไร.
คือในเขตพระบรมมหาราชวังมีที่ชื่อ ราชกรัณยสภา
ที่นั่นนะเป็นที่ประชุมของคณะองคมนตรี.
บางที เวลาไปเฝ้าฯ สมเด็จฯ ที่พระที่นั่งดุสิตฯ แล้ว ก็ลงมาพบคนที่
ราชกรัณยสภา. แต่ลงท้ายก็ลงมาแล้ว
ก็ผ่านข้าง
ราชกรัณยสภา แล้วมีผู้ที่ยืนอยู่ที่นั่น ก็มาคุยกับเขา
เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำท่วม.
ฝ่ายพวกโทรทัศน์เขาก็สนใจ เขาก็เลยมาดักดูว่าพูดอะไร
และดักถ่ายโทรทัศน์. จึงบอกว่า
นี่มาพูดที่ สภากาแฟ. เป็น สภากาแฟ
เพราะว่าพูดอย่างชาวบ้าน มิได้พูดแบบในสภา วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งเป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็เป็นสมาชิก ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย
อะไรอย่างนั้น แล้วบางทีท่านประธานสภาก็ต้องทุบโต๊ะ บอกว่าหยุดเสียที. ของเราไม่มีประธานสภา เป็น สภากาแฟ
แล้วเป็น สภากาแฟที่ไม่มีกาแฟด้วย เพราะว่ากาแฟนี่มันเซาะหัวใจ
เขาเลยไม่ให้กินกาแฟ แม้แต่กาแฟที่ไม่มีกาแฟก็ไม่ให้. แต่ก็มาคุยเรื่องน้ำท่วม.
ตอนนี้ในที่นี้
ท่านนายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีมหาดไทยได้นำผู้ว่าราชการจังหวัดมาที่นี่. ทั่วประเทศมีผู้ว่าราชการจังหวัด ๗๕ ท่าน
ไม่ทราบว่ามากันทุกคนหรือเปล่า.
แต่นึกอยากจะให้ท่านขึ้นมาชี้แจง.
อันนี้ไม่ใช่ สภากาแฟ แล้ว.
เพราะว่าท่านนายกฯ มาพูดถึง โครงการแก้มลิง. พูดอย่างนี้บางคนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจว่าเรียกว่า แก้มลิง
ทำไม. เคยพูดแล้วว่าแก้มลิงคืออะไร
แต่ก็คงยังไม่ซาบซึ้งกัน.
เป็นโครงการ แก้มลิง เพราะ นางมณีเมขลา เป็นส่วนหนึ่ง ของสำนักงาน ฝล. สำนักงาน ฝล. นี้คืออะไร.
เป็นการเปิดเผยเป็นทางการเป็นครั้งแรกเดี๋ยวนี้ ณ บัดนี้ นอกเวลาราชการว่า ฝล.
นี่แปลว่า สำนักงานฝูงลิง.
นี่เครื่องหมาย สำนักงานฝูงลิง ฝล.16 ตรงนี้ก็คือ ศาลพระกาฬ.
ลิงที่อยู่ข้างล่างนี่เป็นลิงจำพวกที่ไม่กินกล้วย.
คือว่ากินกล้วยแต่ไม่เก็บไว้ในแก้มลิง. เพราะว่าตามปกติเวลาเราให้กล้วยกับลิง ลิงจะเคี้ยว เคี้ยว
เคี้ยวแล้ว เก็บไว้ในแก้มลิง.
แต่ฝูงลิงที่ลพบุรี ท่านผู้ว่าฯ ลพบุรีคงทราบว่าไม่รับประทานกล้วย เพราะฝูงลิงที่ลพบุรีนั้นเขารับประทานแต่โต๊ะจีน.
แต่อย่างไรก็ตามนิสัยของลิงก็ยังคงเป็นลิง. เพราะว่า เราจำได้เมื่ออายุ ๕ ขวบ มีลิง
เอากล้วยไปให้. มันก็เคี้ยว เคี้ยว
เคี้ยว แล้วใส่ในแก้มลิง. ตกลง
โครงการแก้มลิง นี้มีที่เกิดเมื่อเราอายุ ๕ ขวบ เมื่ออายุ ๕ ขวบ ก็นี่เป็นเวลา ๖๓ ปีมาแล้ว. ลิงสมัยโน้น
ลิงโบราณเขาก็มีแก้มลิงแล้ว.
เขาเคี้ยวแล้วเอาเข้าไปเก็บในแก้ม.
น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ โครงการแก้มลิง น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมด
อย่างที่เปรอะปีนี้ เปรอะไปทั่วภาคกลาง.
จะต้องทำ แก้มลิง เพื่อที่จะเอาน้ำนี้ไปเก็บไว้ เวลาน้ำทะเลขึ้น
ไม่สามารถที่จะระบายออก.
เมื่อไม่สามารถระบายออก น้ำทะเลก็ขึ้นมา ดันขึ้นไปตาม
แม่น้ำขึ้นไปเกือบถึงอยุธยา ทำให้น้ำลดลงไปไม่ได้. แล้วเวลาน้ำทะเลลง น้ำที่เอ่อขึ้นมานั้นก็ไม่สามารถที่จะกลับเข้าในแม่น้ำเจ้าพระยา
ก็ท่วมต่อไป. จึงต้องมีแก้มลิง
เราพยายามที่จะเอาน้ำออกมาเมื่อมีโอกาส.
เอาลงมาเหมือนโครงการที่ได้กล่าวถึงเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน
ที่บอกให้ทำที่เก็บน้ำทางฝั่งตะวันออก. ในที่สุดก็สำเร็จพอสมควร. เพราะว่าภายในไม่กี่วัน
น้ำที่อำเภอลาดกระบังก็ลดลง.
ที่ลาดกระบังนั้น
ท่าน ผู้ว่าฯ พระนคร 17 ไปแล้วน้ำขึ้นมาถึงเอว. น่าสงสารท่าน เพราะว่าท่านไปยืนอยู่ข้างปั๊มน้ำ. ยืนที่นั่นพูดโหวกเหวก โว้กเว้ก
จำไม่ได้ว่าท่านพูดอะไร.
และปั๊มน้ำก็ปั๊ม ปั๊มขึ้นไป แล้วพ่นลงไป. แล้วหารู้ไม่ว่าน้ำนั้นสูบมาจากถนน แล้วพ่นลงไปในคลอง
แล้วจากคลอง ก็กลับมาบนถนน.
ท่านก็คงเห็น แต่ท่านไม่กล้าพูด ไม่กล้าพูดว่าน้ำที่สูบนั้นกลับมา.
หรือท่านไม่ทราบเพราะเจ้าหน้าที่เขาบอกว่าท่านยืนตรงนี้จะได้รูปสวยๆ
มีปั๊มน้ำ. น้ำก็พ่นออกมา
แต่แท้จริงน้ำที่พ่นออกมา ไปไหน? ก็กลับมา กลับมาท่วมท่านเอง. หมุนเวียนไป
เรียกว่าเวียนเทียนกลับไปกลับมา.
ฉะนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ใช่วิธีที่ควรทำ. สูบน้ำต้องมีประโยชน์ เพราะต้องสิ้นเปลืองพลังงาน
เครื่องสูบอันนั้นไม่ทราบว่า ใช้พลังงานอะไร คงไม่ใช่ไฟฟ้า คงดีเซล. สูบเป็นดีเซลจะเสียน้ำมันไปเท่าไหร่. แล้วน้ำมันที่เสียไปนั้น เวลาเผาน้ำมันไป
มันก็เกิดเป็น ปฏิกิริยาเรือนกระจก เป็นมลภาวะ. แล้วน้ำนั้นก็ไม่ไปไหน ก็อยู่แถวนั้น. ฉะนั้นเราจึงต้องทำ แก้มลิง
เพื่อที่จะให้น้ำของลาดกระบังนั้นลงมาคอยอยู่ที่ แก้มลิง แล้วสูบออกทะเล. จึงทำและรู้สึกว่าจะสำเร็จ
เพราะภายในไม่กี่วัน เมื่อเริ่มปฏิบัติได้แล้ว น้ำที่ลาดกระบังก็ลดลงไป. ถนนโผล่ขึ้นมา. ถนนที่ท่านอยากจะแก้ไขให้การจราจรไปได้ดี
รถก็แล่นได้.
ก็มองเห็นว่าถนนนั้นพังหมด ต้องซ่อม.
แต่ว่าอย่างไรก็ตาม
ก็เห็นถนนหลังจากทำ โครงการแก้มลิง นั้น.
แต่ตอนนั้นไม่ได้เรียกว่า แก้มลิง เพิ่งมาเรียกทีหลัง
เพราะว่ามาปรึกษาหารือกันกับ สำนักงานฝูงลิงนี้. เขาก็บอกว่าทำเป็น แก้มลิง ได้. ตอนนี้ก็มี โครงการแก้มลิง ซึ่งจะต้องร่วมกันทำ
และเชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์ น่าจะมีผลดี.
มีตัวเลขแต่ยังไม่อยากบอก.
ยังไม่อยากพูดถึงตัวเลข เพราะว่าท่านก็จำไม่ได้ แล้วออกไปจากที่นี่
ก็จะกลุ้มใจมาก เพราะว่าน้ำที่ลงมามันมากเหลือเกิน จนคิดไม่ออกว่าเท่าไหร่. ถ้าบอก ๕,๐๐๐
ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็คิดไม่ออกว่าเป็นเท่าไหร่ ภายใน ๖ ชั่วโมง ๕,๐๐๐
ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นี่เป็น ๑๐๐ (๑๐๘)* ล้านลูกบาศก์เมตร. ภายใน ๒๔ ชั่วโมง ก็เป็น ๔๐๐ (๔๓๒)*
ล้านลูกบาศก์เมตร. ก็ไม่รู้จะเอา
วันเดียว ๔๐๐ (๔๓๒)* ล้านลูกบาศก์เมตรที่ลงมาที่ต้องเอาออกไปไว้ที่ไหน
สูบเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ไหว.
ยิ่งถ้าสูบแล้วหมุนเวียนกลับมาก็ยิ่งไม่ไหว.
วิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งก็คือต้องเก็บน้ำไว้ข้างบน
แบบที่เก็บไว้ในเขื่อน ก็มีเขื่อนใหญ่ ๒ เขื่อน. เขื่อนพระราชากับเขื่อนพระนางเจ้าฯ 18 เขื่อนพระราชาที่เก็บในครั้งนี้
เก็บกักเอาไว้ไม่ให้ลงมาท่วม ๙ พันล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนพระนางเจ้าฯ ประมาณ ๖ - ๗ พันล้าน ที่กักเอาไว้. ไม่นับที่เคยมีอยู่เดิม. ถ้าไม่ได้เขื่อน ๒ เขื่อนนี้
น้ำทั้งหมดประมาณ ๒ หมื่นล้าน จะลงมาถล่มกรุงเทพฯ ทั้งหมด แล้วจะเป็นอย่างไร. ฉะนั้นที่ท่านนายกฯ
บอกว่าโครงการป่าสักจะปฏิบัติ ก็น่าจะดี
น่าจะช่วยให้สามารถที่จะบรรเทาความเดือดร้อน เพราะว่า ๘๐๐
ล้านลูกบาศก์เมตรจะเก็บเอาไว้ได้.
ฉะนั้น ๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรนี้ เก็บเอาไว้. และตอนน้ำน้อยลง ก็ยังปล่อยออกมา แล้วเอามาใช้ประโยชน์ได้.
ตอนนี้อยากที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยานี่
ได้มาดูแผนที่ที่เตรียมมา ๒ ชุด ๓ ชุด.
เขายังไม่เอามา.
ขอชุดแรก. อันแรกจะแสดงให้เห็นว่าน้ำผ่านจังหวัดอะไร. ก็ขอให้เจ้าหน้าที่
เอามาตามที่บอกไว้.
อันนี้เป็นแผนที่ประเทศไทย มาตราส่วน ๑ : ๑,๒๕๐,๐๐๐. อันนี้ก็คงพอดูได้. ตอนนี้จะขอเป็นวิทยากรหน่อย.
เดี๋ยวขอปากกาดินสอ.
กรุงเทพฯ
อยู่ที่นี่ (จุดที่ ๒).
แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านนครสวรรค์ (จุดที่ ๑). นครสวรรค์นี้เป็นจุดรวมน้ำจากภาคเหนือทั้งหมด
นอกจากแม่น้ำป่าสักที่มาลงที่อยุธยา.
บนแผนที่อันนี้เราจะขีดจากล่างขึ้นไป โดยประมาณ. นี่แม่น้ำเจ้าพระยา.
นี่นครสวรรค์ (จุดที่ ๑).
กรุงเทพฯ (จุดที่ ๒).
ส่วนนี้มาจากทางเหนือ.
แม่น้ำปิง (จุดที่ ๓).
แม่น้ำวัง (จุดที่ ๔).
แม่น้ำยม (จุดที่ ๕).
แม่น้ำน่าน (จุดที่ ๖).
น้ำทั้งหมดนี่ลงมา
ถ้าไม่มีเขื่อน ไม่มีอะไรกั้น ลงมาตามสบาย ที่นี่น้ำจะท่วมแน่นอน
เพราะว่าจะลงมามากกว่า ๕,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หมายความว่ามากกว่า ๔๐๐
ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน. แต่ว่า
มีโครงการคือเขื่อนแถวนี้ (จุดที่ ๗) มีเขื่อนที่เรียกว่าเขื่อนพระราชา
และมีเขื่อนแถวๆ นี้ (จุดที่ ๘) เขื่อนพระนางเจ้าฯ
ซึ่งเก็บน้ำในลุ่มน้ำนี้และในลุ่มน้ำนี้. ที่นี่ (จุดที่ ๙) มีเขื่อนเล็กๆ
ไม่ใหญ่นัก คือเขื่อนกิ่วลม เก็บน้ำไว้บ้างเล็กน้อย. จะเห็นได้ว่าน้ำที่ลงมานี่ ที่ไม่มีการเก็บกักมีอยู่บ้าง.
นอกจากนั้นก็มีน้ำที่มาข้างๆ นี่ ที่มาจากแม่น้ำป่าสัก ซึ่งต่อไปจะมีโครงการป่าสัก
ซึ่งอยู่ประมาณแถวนี้ (จุดที่ ๑๐).
ตกลงถ้ามีโครงการป่าสักที่นายกฯ บอกว่าจะทำก็จะกักน้ำในลุ่มนี้.
มีโครงการเขื่อนพระนางเจ้าฯ
เขื่อนพระราชา เขื่อนกิ่วลม 19 ก็จะเหลือโครงการนี้ (น้ำยม) ที่จะช่วยได้พอสมควร.
ตรงนี้ (จุดที่
๑๑) ตอนบนเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ถัดลงมาจังหวัดลำพูน จังหวัดตาก
และจังหวัดกำแพงเพชร.
นี่จังหวัดน่าน และ จังหวัดแพร่ ที่เกิดเรื่อง ท่านนายกฯ
ไปเยี่ยมเกือบทุกแห่ง และคนอื่นก็ไปเยี่ยม แล้วกลับมาก็งง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรเพื่อที่จะไม่ให้น้ำลงมารังควาน. สำหรับเชียงใหม่ ลำพูน ลงมาถึงตาก. ด้านแม่ฮ่องสอน นี่ไม่จำเป็น เพราะเขาไปลงสาละวิน.
ไม่รู้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่อยู่หรือเปล่า. จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน หรือ
จังหวัดที่อยู่เหนือเขื่อนพระราชา ขึ้นมาบนนี้เลย. ตรงนี้ไม่เห็นว่าสถานการณ์น้ำท่วมแถวเชียงใหม่
มีอะไรบ้าง. ตรงนี้ (จุดที่ ๑๒)
มีเขื่อนแม่งัด 20 กับ เขื่อนแม่กวง 21
ตอนนี้
อยากที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาบอกว่าตรงไหนมีน้ำท่วม.
(ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ 22 “ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละออง-ธุลีพระบาท
จังหวัดเชียงใหม่นั้น ปีนี้น้ำท่วม เฉพาะบริเวณริมฝั่งสองข้างแม่น้ำปิง
พระพุทธเจ้าข้า.”)
ใต้แม่งัด
ใต้แม่กวง ไม่ท่วมใช่ไหม?
(ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ “ใต้แม่งัด
แม่กวงมีท่วมเล็กน้อย พระพุทธเจ้าข้า.”)
แม่งัดนี่เคยไปไต่ถามชาวบ้าน. ชาวบ้านบอกว่าแม่งัดนี่ดุมาก. เราไปถามว่า ที่ตรงนี้เป็นแม่งัดหรือแม่ปิง
และถามว่า แม่ปิงดุไหม.
เขาตอบว่าแม่ปิงไม่ค่อยดุนัก
แต่แม่งัดนี้ดุ.
เขาเลยขอให้สร้างฝาย.
ตอนนั้นมีฝายอยู่แล้ว แต่พังทุกปี.
เลยทำให้คิดว่าจะต้องสร้างเขื่อน.
อันนี้ก็หลายปีมาแล้ว จำไม่ได้กี่ปี ที่เขื่อนแม่งัดสร้างมา.
(ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ “สิบกว่าปี”)
แต่เริ่มมา
๒๐ ปีแล้ว ทำให้แม่งัด หายดุไปมาก.
น้ำมาแล้วก็เต็มแม่งัด.
กว่าจะเต็มก็ใช้เวลานาน จึงทำให้ตรงข้างล่างแม่งัดนี้ไม่ค่อยดุ. แต่ก็ยังดุ
ท่วมที่ตัวเมืองเชียงใหม่.
หมายความว่า มีที่ท่วมอย่างเดือดร้อน ก็อยู่ที่อำเภอเมือง. ท่วมไม่กี่วัน
เพราะว่ามีสองเขื่อนนี่ได้ช่วย.
ผู้ว่าฯ
ลำพูนอยู่หรือเปล่า.
ที่จริงลำพูนไม่ต้อง ก็เป็นเพื่อนบ้านของเชียงใหม่. ลำพูนนั้นก็แห้ง ไม่ค่อยมีน้ำ.
(ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
“ลำพูนไม่ท่วม.”)
ไม่ท่วมเพราะไม่มีน้ำ.
ที่ลำพูนเรามีเพื่อนอยู่ที่นั่น ที่อำเภอลี้. เราถามว่าฝนลงไหม.
ไม่ลง.
เสร็จแล้วเราก็บอกให้เครื่องบินฝนเทียมไปทำฝน ที่ลำพูน ที่อำเภอลี้. เพื่อนเขาบอกว่าเห็นเครื่องบินผ่าน
ตรงเขื่อนเล็กๆ ที่สร้างไว้.
เขาบอกว่านี่เป็นเป้าหมาย เครื่องบินผ่านมาแล้วก็โปรยวัสดุเคมี. เขาบอกว่าโดยมากฝนลงมาเพียงปรอยๆ. แต่ว่าวันนั้นเขาไปดูที่เขื่อน. เขาบอกว่า “แหมเล็งดีเหลือเกินลงผลัวะ ลงในเขื่อน.” ก็ทำฝนเทียมที่นี่. แต่น้ำที่ท่วมไม่ใช่ฝนเทียม. น้ำที่ท่วมที่เชียงใหม่นี้
มาถูกกักที่เขื่อนพระราชา แถวตาก.
ก็ดูเหมือนไม่ค่อยมีท่วม.
เรื่องของผู้ว่าฯ ก็มีแค่นี้ ของผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ลำพูนแล้ว
ก็ลงมาถึงตากเลย... ผู้ว่าฯ
ตากอยู่ไหม. ผู้ว่าฯ น่าน กับ อุตรดิตถ์ มาหรือเปล่า? ผู้ว่าฯ
น่านมา. ผู้ว่าฯ
อุตรดิตถ์มาหรือเปล่า? ... ไม่ได้มา.
ไม่เป็นไร น่านพูดแทนได้.
ที่จังหวัดน่านมีน้ำท่วมอะไรบ้างหรือเปล่า?
(ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน 23 “บริเวณสองฝั่งริมแม่น้ำน่านและบริเวณริมน้ำว้า
น้ำมวบ และน้ำยาวบางส่วน พระพุทธเจ้าข้า.”)
ก็นี่
(จุดที่ ๑๓) น้ำน่าน ลงมาถึงเมืองน่าน ที่นี่ท่วม. น้ำว้าก็อยู่นี่ ตรงนี้.
(ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน “น้ำว้าบริเวณอำเภอท่าวังผา
พระพุทธเจ้าข้า.
น้ำมวบบริเวณอำเภอเวียงสา พระพุทธเจ้าข้า.”)
บริเวณแถวๆ
นี้ (ทรงชี้ลุ่มน้ำทั้งสาม).
แล้วทราบหรือเปล่า อุตรดิตถ์ ก็มีน้ำท่วม.
(ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน “อุตรดิตถ์ก็อยู่ท้ายน้ำ
พระพุทธเจ้าข้า.”)
มีท่วมหรือเปล่า?
(ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน “มาก พระพุทธเจ้าข้า.
มากก็เพราะไม่มีเขื่อน อยู่ท้ายเขื่อน.”)
ท้ายเขื่อนนี้
ที่นี่ก็ท่วม.
(ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน “ เมื่อเปิดน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์
แล้วก็ไปที่จังหวัดอุตรดิตถ์.”)
ก็ลงไปเพราะว่าเขื่อนสิริกิติ์นี่ไม่ใหญ่พอ. ต้องปล่อยน้ำออก. มันเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์.
น้ำมาก็ต้องปล่อยออก.
(ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน “ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายข้อมูล
พระพุทธเจ้าข้า.
ถ้าได้มีการสร้างเขื่อน ที่น้ำว้า น้ำยาว
และน้ำมวบ
ที่จังหวัดน่าน ก็จะบรรเทาเรื่องทั้งหมดได้ พระพุทธเจ้าข้า.)
ก็หมายความว่า
น้ำว้า น้ำมวบ ที่อยู่แถวนี้.
(ทรงชี้แม่น้ำบนแผนที่)
(ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน “
และน้ำยาวบางส่วน พระพุทธเจ้าข้า. ๓ ลำน้ำนั้นลงมาที่เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งไหลค่อนข้างจะเร็ว
เพราะว่าระดับสูง. ความลาดชัน
สูงมาก พระพุทธเจ้าข้า. จากระดับ ๑,๙๐๐
ลงมา ๑,๗๐๐. ลงมาถึงอำเภอ
เวียงสานี่
ระดับ ๒๐๐ กว่า พระพุทธเจ้าข้า. ๓ ลำน้ำใหญ่ๆ พระพุทธเจ้าข้า. น้ำค่อนข้างเร็ว พระพุทธเจ้าข้า.)
จดไว้แล้วรายงานมาให้ท่านนายกฯ
ทราบ. เพราะว่าจะได้...
(ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน “ขอถวายรายงาน.
เรื่องนี้ได้มีการศึกษาและก็มีโครงการว่าจะสร้าง ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
หลายครั้งแล้ว.
แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร จึงไม่ได้รับงบประมาณ พระพุทธเจ้าข้า.)
เรื่องนี้ก็มาฟังแถลงแล้ว
ในฐานะเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย.
ทั้งนี้ก็ต้องมีความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายมหาดไทย ทั้งฝ่ายชลประทาน
กระทรวงเกษตรฯ. ถ้าทำโครงการเหล่านี้ได้
ก็อาจจะช่วยบรรเทามิให้ต้องเดือดร้อน พราะเขื่อนพระนางเจ้าฯ
จะต้องปล่อยน้ำลงมา.
การปล่อยน้ำลงมาก็ทำให้เดือดร้อนหลายจังหวัด อุตรดิตถ์ แล้วลงมาถึงพิษณุโลก
แล้วก็...
(ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน “จังหวัดพิจิตรด้วย
พระพุทธเจ้าข้า.”)
ลงมาพิจิต.ร ก็หมายความว่าจังหวัดอุตรดิตถ์
แล้วก็พิษณุโลก และพิจิตร มีความเดือดร้อนของน้ำท่วม
เพราะเหตุว่าตรงนี้ไม่มีเขื่อน ๓ เขื่อนนั้น ซึ่งจะช่วยบรรเทา. แถวนี้ (จุดที่ ๑๔) เป็นที่ที่เดือดร้อน. ด้านเชียงใหม่ไม่เดือดร้อนมาก. แต่ด้านนี้เขาเดือดร้อน.
ส่วนนี้
น้ำที่จะมาจากทางน้ำยม ทำให้ แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก เดือดร้อน
เพราะว่าน้ำลงมาอย่างนี้.
ก็จะต้องพิจารณาที่จะทำอะไรอย่างหนึ่งอย่างใด คือว่า น้ำลงมานี่
ก็ลงมาในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย แม่น้ำเจ้าพระยานี้มีเขื่อนที่ชัยนาท
(จุดที่ ๑๕). ชัยนาทอยู่นี่. เขื่อนชัยนาทนี่ไม่ใช่เขื่อนเก็บกักน้ำ
เป็นเขื่อนทดน้ำ.
แต่เก็บกักได้นิดเดียว อยู่ที่นี่.
สำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ก็มีแค่นี้.
ได้ทราบว่า
ที่นี่ (จังหวัดแพร่) มีความเดือดร้อน
เพราะมาจากความเดือดร้อนของจังหวัดน่าน.
ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มาหรือเปล่า. ถ้าผู้ว่าฯ จังหวัดแพร่ไม่มา ก็ไม่ว่าอะไร
เพราะว่าถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดมาที่นี่ทั้งหมด ใครจะปกครอง. แล้วก็มีปลัดจังหวัด
มีนายอำเภอ ปลัดกิ่งอำเภอต่างๆ ที่บอกว่าจะบวช จะบวช แล้วใครจะปกครอง? เขาเขียนมาบอกว่าปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดกิ่งอำเภอ ต่างๆ
จะบวชถวายพระราชกุศล. เราก็บอกว่ายินดี
อนุโมทนา แต่ว่าเขียนไว้ ไม่ทราบว่าตอบไปหรือเปล่าว่า เขียนว่าใครจะปกครอง?
ต้องถามกรมการปกครอง.
แต่ว่าดีแล้วที่เขาไม่มา.
เขาจะได้ดูแลปกครอง. หรือ
เขาไปไหนไม่ทราบ.
แต่อย่างไรก็ตาม
ผู้ว่าราชการจังหวัด มีหน้าที่ที่จะปกครอง ที่จะดูแลในเขตของตัว เพื่อที่จะให้มีความร่มเย็นเป็นสุข.
ซึ่งหลังจากมีน้ำท่วมนี้ก็จำเป็นที่จะให้มีผู้ใหญ่ดูแลและปฏิบัติงาน.
อย่างผู้ว่าฯ จังหวัดน่านตะกี้ มาเสนอ ๓ เขื่อนนี้ก็เป็นประโยชน์ดีมาก. สามารถที่จะจี้ตรงจุดที่ถูกต้อง
เพราะว่าถ้ามี ๓ เขื่อนนี้ ก็จะสามารถที่จะเก็บน้ำเอาไว้ได้.
ก็จะบรรเทาความเดือดร้อน ของบริเวณที่ถูกน้ำท่วมด้านล่าง
เนื่องจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนพระนางเจ้าฯ.
ส่วนที่พิษณุโลกนี่ก็มีน้ำที่ไหลลงมาจากข้างๆ
อีกสายหนึ่ง. แควน้อยซึ่งจะต้องทำ
ตาไม่ค่อยดี มองไม่ค่อยเห็น แต่เข้าใจว่าอยู่แถวนี้ (ทางตะวันออกของพิษณุโลก) อันนี้ก็ยังไม่ได้ทำอะไร.
ซึ่งจะต้องทำเพื่อเก็บกักน้ำที่มาจากอำเภอชาติตระการ. อาจจะมีคนค้านว่าทำไมทำเขื่อนพวกนี้
แล้วว่ามีประโยชน์อะไร.
ก็เห็นแล้วประโยชน์ของเขื่อนใหญ่ ๒ เขื่อนนี้. ถ้าไม่มี ๒ เขื่อนนี้ ที่นี่จะท่วมยิ่งกว่า. จะไม่ท่วมเพียงแค่นี้ จะท่วมทั้งหมด.
มาถึงตรงนี้ ก็มาถึงเขื่อนชัยนาท.
จากเขื่อนชัยนาท น้ำก็ลงแยกออกมาอย่างนี้. แยกออกมาทางนี้ (จุดที่ ๑๖ ด้านตะวันตก) เป็นการบรรเทาน้ำท่วม. แต่น้ำที่ลงมาทางนี้ (ทางทิศใต้)
กับทางนี้ (ทางทิศใต้เฉียงทางตะวันออกเล็กน้อย)
ทำให้บริเวณนี้ทั้งบริเวณท่วม. ฉะนั้นต้องมีวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไม่ให้ทั้งหมดนี่ ท่วมนานเกินไป.
ยังไม่ได้ไต่ถามเกี่ยวข้องกับน้ำที่ลงมาจากตาก
ผ่านกำแพงเพชรถึงนครสวรรค์.
อาจจะไม่จำเป็นเพราะเราก็ทราบว่านครสวรรค์น้ำท่วม น้ำท่วมเลยหัว
เพราะว่าเก็บที่นี่ (น้ำวังที่เขื่อนกิ่วลม) ไม่พอ. ตามทางนี้ไม่มีที่เก็บอื่นๆ. ทางนี้ (ลุ่มน้ำแม่วงทางตะวันตก)
ก็ไม่ได้เก็บไว้. ตรงนี้ (น้ำยม)
ก็ไม่ได้เก็บ.
ทั้งหมดนี้ก็ลงมาที่นครสวรรค์ซึ่งเป็นแอ่ง (จุดที่
๑๗). น้ำจากข้างๆ ก็ลงมา
ทำให้ท่วมมากที่นี่.
มีการพยายามกระจายน้ำออกไป ๒ ข้างแล้ว แต่ก็ไม่พอ.
อนึ่งต้องให้ทราบว่าน้ำที่ลงมานี่
จะปะทะกับน้ำทะเลที่หนุนขึ้นไป (จุดที่ ๑๘ ทางปากน้ำ). น้ำทะเลที่หนุน ก็เป็นจังหวะๆ. และพอดีเวลาเดือนสิบสองน้ำนองเต็มตลิ่ง. เวลานี้ ที่น้ำข้างบนลงมา
และน้ำข้างล่างก็ขึ้นไป ไปชนกัน.
ทำให้ที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งถึงอยุธยา น้ำไหลลงไม่ได้. ฉะนั้นจะต้องหาวิธีแก้ไข . ที่ทำได้คือ
พยายามให้น้ำที่อยู่ที่นี่ (จุดที่ ๑๙ ทางตะวันออกของอยุธยา) ออกมาทางนี้
(ทางตะวันออก). แล้วถ้าจะทำได้
ให้น้ำที่อยู่แถวนี้ (จุดที่ ๒๐ ทางตะวันตกของอยุธยา) ลงมาแถวนี้
(ทางแม่น้ำท่าจีน). ทั้งนี้
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เนื่องจากน้ำที่เอ่อขึ้นไป.
ฉะนั้นต้องหาวิธีให้น้ำที่ลงมาจากทางเหนือออกไปสู่ทะเลได้. จึงเกิด โครงการแก้มลิง.
โครงการแก้มลิง
นี้ จะต้องอธิบายนิดหน่อย. ขอแผ่นขาว เพื่อที่จะมาขีดให้ดู เพราะแผนที่นี้
ดูไม่รู้เรื่องแล้ว. แก้มลิงมันอยู่ที่นี่
(จุดที่ ๒๑) อยู่ตรงระหว่างแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง. นี่แม่น้ำเจ้าพระยา (จุดที่ ๒๒). แม่น้ำเจ้าพระยานี้ ตอนแรกนี่กว้าง. เวลาน้ำทะเลขึ้น ก็ขึ้นไม่แรงนัก.
แต่มาถึงตรงนี้ (จุดที่ ๒๓) ใกล้สะพานกรุงเทพ สะพานพระเจ้าตากสิน สะพานพระราม ๗ และสะพานพระพุทธยอดฟ้า. ตรงนี้แม่น้ำแคบลง. มาถึงที่ตรงนี้ (จุดที่ ๒๓) น้ำขึ้น (จุดที่ ๒๔) กับน้ำที่ลงมาจากทางเหนือชนกัน ที่นี่. น้ำจึงล้นออกมา (จุดที่ ๒๕). ด้านกรุงเทพฯ ด้านฝั่งตะวันออกนี้
น้ำไม่ค่อยเข้า เพราะตลิ่งสูงกว่า.
ด้านธนบุรี ด้านตะวันตก เมื่อน้ำเข้าไปแล้ว ก็ไปขังอยู่. เวลาน้ำขึ้น ก็เข้ามาที่นี่. เวลาน้ำลงน้ำ ก็ออกมาไม่ทัน
เพราะน้ำที่จะลงต้องลงพร้อมกับน้ำที่มาจากเหนือ. จึงเข้าทางเดียว. น้ำไม่ค่อยลง. เมื่อน้ำไม่ลง ถนนที่ได้ยินชื่อมากที่สุดก็คือ
ถนนเจริญนครกับถนนจรัญสนิทวงศ์ (จุดที่ ๒๖) ก็ท่วม. ถนนสองถนนนี้ท่วมมาเป็นเวลา ๒
เดือน. ตรงนี้ (จุดที่ ๒๗, ด้านตะวันตก) มีคลองสรรพสามิต
จากปากน้ำไปถึงสมุทรสาคร. ตรงนี้ไม่มีประตูน้ำ. ตรงนี้ (จุดที่ ๒๘, ด้านตะวันออก) เป็นคลองชายทะเล.
คลองชายทะเลมีประตูน้ำ
ที่จะปล่อยน้ำลงทะเลได้เป็นแห่งๆ (จุดที่ ๒๙). ตรงนี้ (จุดที่ ๓๐) เป็นถนนสุขุมวิทเก่า. เวลาน้ำทะเลสูงก็ปิดประตูน้ำได้
น้ำทะเลจะไม่เข้า แต่เวลาน้ำลง เปิดให้น้ำลงได้. ก็เอาน้ำที่อยู่ข้างบนนี้ (จุดที่ ๓๑) ผันลงมาที่นี่ได้. แต่ระหว่างทางมีสิ่งกีดขวาง
มีถนนบางนา-ตราด (จุดที่ ๓๒) มีทางรถไฟ.
น้ำตัดผ่านไม่ค่อยได้
แล้วก็มีตามทางนี้ (จุดที่ ๓๓, ถนนใหม่ไปบางปะกง).
ระหว่างทางก็ยังมีหมู่บ้านจัดสรร.
น้ำจะลงไม่ได้.
ถ้าทำให้น้ำลงมาได้ ให้มาถึงที่นี่ (จุดที่ ๒๙) แล้วสูบออกทะเล น้ำนี้
(จุดที่ ๓๑) ก็จะออกได้เร็ว.
ทั้งนี้ทำไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำลงมาถึงที่นี่ (จุดที่
๒๙).
ด้านตะวันตกน้ำทะเลเข้ามาหนุนจึงไม่สามารถที่จะระบายน้ำที่อยู่ที่นี่
(จุดที่ ๓๕) หรือที่อยู่ในบริเวณนี้ (จุดที่ ๓๖). ระหว่างนี้มีถนน และมีหมู่บ้าน มีโรงงานตลอดทาง มีถนนไปนครปฐม
ไปสามพราน (จุดที่ ๓๔).
น้ำที่ลงมาจากทางนี้ (จุดที่ ๓๕) ไม่สามารถจะลงคลอง. คลองทวีวัฒนาลงมาทางนี้. น้ำทะลุแนวถนน และหมู่บ้านไม่ได้. แล้วมาถึงตรงนี้ (จุดที่ ๓๖)
น้ำก็มาตุงอยู่ที่นี้ เพราะว่าน้ำทะเลหนุนขึ้นมา.
จะกล่าวถึงโครงการแก้มลิง
(จุดที่ ๓๗). จะทำทำนบกั้น ๒
ข้างคลองสรรพสามิต และจะให้น้ำที่ลงมาจากที่นี่ (จุดที่ ๓๘) ไหลผ่านประตูน้ำให้น้ำลงไปได้ทางเดียว
ไม่ให้ไหลขึ้น. แต่เพื่อการนี้
จะต้องทำให้มีบริเวณที่จะเก็บกักน้ำได้มากๆ (จุดที่ ๓๙). ต้องทำโครงการกั้นน้ำ. ตรงนี้อาจจะทำเป็นคันลงมา
แล้วตรงนี้ก็เท่ากับเป็นคันเพื่อเก็บกักน้ำ. เวลาน้ำในทะเลสูง เราก็ปิดและสูบน้ำออก. เวลาน้ำลงก็เปิด ให้น้ำออกได้. อันนี้เป็นหลักการ. แต่ว่าโดยที่มีประชาชนอยู่บ้าง
เราก็จะต้องไม่ให้ประชาชนเหล่านี้เดือดร้อน.* จึงทำอย่างนี้. ทำคล้ายๆ เป็นแท่นที่ (จุดที่ ๔๐)
เดี๋ยวนี้ ที่นี่เป็นนาเกลือเดิม แต่ว่าทำนาเกลือไม่ได้แล้ว แล้วเป็นทำนากุ้ง แต่นากุ้งก็ทำไม่ได้แล้ว.
น้ำโสโครก มันลงมา กุ้งก็อยู่ไม่ได้.
เดี๋ยวนี้ทำนาปู.
ไม่ใช่นาปูแท้ แต่เอาปูจากที่อื่นมา มาปล่อยไว้ที่นี่ เป็นธนาคารปู.
คือไม่ใช่เลี้ยงปู เลี้ยงปูไม่ได้ เพราะว่าน้ำมันเสีย ถึงอันตรายมาก. ปูที่อยู่ที่นี่กินน้ำโสโครก
คนรับประทานปูแล้วก็ปวดท้อง. อันนี้มีชื่อเสียงมานานแล้ว
ปูสมุทรสาครนี่ ทำให้คนเป็นโรคทางเดินอาหารไปมาก. ฉะนั้นถ้าทำอย่างนี้ เป็นแท่นขึ้นมา.
ในแท่นนี้มีที่พอสำหรับให้ประชาชนที่อยู่แถวนี้มาอยู่เป็นหมู่บ้านจัดสรร.
และ ในที่แท่นนี้ (จุดที่ ๔๑) เราก็ทำทฤษฎีใหม่. มีสระน้ำ มีเขตของบ้าน.
เวลาปรับปรุงดินพอสมควรแล้ว ซึ่งทำไม่ยากนักภายใน ๒ ปี
โดยเอาดินนี่ขึ้นมาแล้วทำให้แห้ง หรืออาจจะเอาดินมาจากที่อื่น มาถมไว้บ้าง
ล้างความเค็มของดิน พวกที่อยู่ที่นี่จะปลูกต้นไม้ได้ เช่นมะพร้าวหรือชมพู่
หรือปลูกผัก หรือเลี้ยงปศุสัตว์.
ในสระน้ำก็เลี้ยงปลาได้.
ส่วนในที่ที่เป็นแก้มลิงนี่ ที่น้ำลงมา ถ้าทำนานๆ ไป
น้ำนี้ก็จะกลายเป็นน้ำที่สะอาด สามารถที่จะเลี้ยงสัตว์น้ำได้. เวลาน้ำลงมาก็มากักไว้ที่นี่
เวลาน้ำทะเลขึ้นก็ปิด. เวลาน้ำทะเลลงก็เปิด
น้ำจะออกไปโดยใช้ Gravity ใช้ความชันของพื้นที่ได้. ในบริเวณนี้มีที่กว้าง เหมาะสำหรับทำโครงการแก้มลิง
และมีหมู่บ้านน้อย สามารถที่จะจัดสรรที่ดิน. ไม่ใช่ว่าจะทำหมู่บ้านจัดสรรแบบเอากำไร
แต่เป็นหมู่บ้านจัดสรรสำหรับประชาชนที่อยู่แถวนี้. และต่อไปก็อาจจะมีที่พอสำหรับโยกย้าย
คนที่จะต้องโยกย้ายมาจากบริเวณที่จะขยายคลองให้น้ำผ่านได้ดี.
ทางด้านนี้
(จุด ๒๘, ด้านตะวันออก) ก็น่าจะทำโครงการได้เหมือนกัน
แต่ยังไม่ได้ศึกษา. ก็น่าจะทำได้ มีที่คล้ายๆ กับด้านนี้ (จุด ๒๙, ด้านตะวันตก)
อันนี้ก็เป็นโครงการแก้มลิง. โครงการแก้มลิง
ต้องทำตามคติพจน์ที่มีเขียนไว้ข้างใต้ตรงนี้ (ทรงชี้ที่กระเป๋าฉลองพระองค์)
เหมือนที่เคยเล่าให้ฟังเมื่อประมาณ ๓ ปี ภาษาไทยพูดยาก แต่ภาษาอังกฤษก็คือ Our
Loss Is Our Gain. Our
Loss คือสิ่งที่เราเสีย; Is คือเป็น,
Our Gain กำไรของเรา Our Loss ความเสียหายของเรา
Is Our Gain กลายเป็นกำไรของเรา. ต้องทำตามคติพจน์ของสำนักงาน ฝล.
ก็จะสามารถทำโครงการนี้ได้.
แต่ถ้าถือว่า Our Loss Is Our Loss คือ
ไม่ยอมเสียเงิน ก็ทำโครงการนี้ไม่ได้.
ต้องยอมเสียเงิน. แต่ในที่สุดก็กลายเป็นกำไรของเรา. เพราะว่าคนพวกที่อยู่ที่นี้ จะร่วมมือ
จะทำให้โครงการนี้ราคาถูกลง และ ประชาชนที่อยู่ที่นี่ก็จะได้กำไรเหมือนกัน. ทางราชการก็จะได้กำไร.
อยากให้เข้าใจว่าทำไมเรียกว่า
แก้มลิง ก็เพราะว่าน้ำที่เข้ามาที่นี่ (จุดที่ ๒๕) มันออกไปไม่ได้ ก็ต้องเคี้ยว
เคี้ยว เคี้ยว แล้วเก็บไว้ในที่นี้ (จุดที่ ๓๙). ตรงนี้ (จุดที่ ๔๒) มีคลองหลายคลอง คลองหนึ่งชื่อคลองสำเหร่ แล้วอีกคลองชื่อคลองโรงภาษี.
ที่ตรงนี้เวลาน้ำขึ้น น้ำพุ่งเข้าไปเลย จากที่นี่ (จุดที่ ๔๒)
ไปลงคลองบางกอกใหญ่.
แต่ถ้าเราทำทางที่จะให้ไหลตรงมาที่นี่ คลองสนามชัย (จุดที่ ๔๓)
นี่คลองสนามชัย (จุดที่ ๔๓) มาลงที่นี่ คลองมหาชัย (จุดที่ ๔๔) ถ้าเอาคลองสำเหร่และคลองโรงภาษี
มาเชื่อมต่อกับคลองสนามชัย หรือคลองบางมด (จุดที่ ๓๘) ก็ได้
ก็จะสามารถระบายน้ำออกจากบริเวณน้ำท่วมฝั่งธนฯ (จุดที่ ๒๕). ซึ่งทำได้ เป็นถนนคลอง.
หรือจะเรียกว่าคลองถนนก็ได้ เพราะว่าข้างบนเป็นถนน ข้างล่างเป็นคลอง.
เมืองนิวออลีนส์ในอเมริกา
เขามีถนนคลอง. ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า
Canal
Street. ใครไปนิวออลีนส์
คงได้ไป Canal Street. เวลาน้ำท่วม น้ำจะเข้า Canal Street แล้วไปลง
แก้มลิง ของเขา. แก้มลิง ของเขาเป็น
แก้มลิง ธรรมชาติ เป็น Lagoon ใหญ่. แต่ของเราต้องสร้าง แก้มลิง. แล้วก็ต้องสร้าง Canal Street ถนนคลอง.
ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วก็จะสบาย น้ำจะไม่ท่วม นอกจากจะเป็น ฝนพันปี หรือ
ฝนหมื่นปี คือฝนหรือน้ำที่ลงมากเป็นประวัติการณ์. แต่ถ้าทำอย่างนี้จะสามารถต่อสู้ธรรมชาติได้. อันนี้เราไม่ได้ต่อสู้ใคร บุคคลใด
เราต่อสู้ธรรมชาติ.
ให้ประชาชนเหล่านี้มีความสุข และสามารถที่จะร่วมมือในโครงการนี้ แล้วประชาชนแถวนี้ก็จะมีความสุข.
เมื่อมีความสุขไม่เดือดร้อน Our Gain กำไรจะมา.
การต่อสู้น้ำท่วมครั้งนี้
ต้องเสียเงินเป็นร้อย เป็นพัน หรือเป็นหมื่นล้าน. แต่ว่าถ้าทำสำเร็จก็จะได้กำไร เพราะไม่ต้องสงเคราะห์
ไม่มีผู้เสียหาย และไม่มีผู้เสียผลประโยชน์. เขาจะทำงานเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้. ตัวเองก็จะมีเงินพอใช้. ส่วนรวมก็จะมีเงินพอใช้. ถ้าทำโครงการนี้สำเร็จ
เมืองไทยจะเจริญขึ้นอย่างถนัดตาเลย.
เขียนผังอย่างนี้อาจจะดูยากหน่อย แต่ก็ค่อยๆ ไปคิดก็จะเข้าใจ. ความสงสัยใดๆ ก็จดเอาไว้. อาจจะชี้แจงได้ต่อไป ไม่ต้องถึงปีหน้า. เมื่อปีที่แล้วบอกให้คอยปีหน้า
คือปีนี้.
ได้ชี้แจงโดยที่ไม่มีใครมาถามอะไร มีแต่ธรรมชาติมาถาม เราถึงชี้แจงให้.
สำหรับเรื่องนี้
ใครอยากจะได้ทราบข้อมูลรายละเอียด ก็มีผู้ที่ทราบข้อมูลที่มูลนิธิชัยพัฒนา
หรือที่กรมชลประทาน ที่เขาสามารถจะชี้แจง เพราะเข้าใจว่าเขารู้เรื่อง. ต้องบอกว่า เข้าใจว่า เพราะเราไม่ทราบว่า
เขาเข้าใจหรือไม่เข้าใจ.
แต่เข้าใจว่าเขาเข้าใจ.
แล้วถ้ามีอะไรที่เป็นคำถาม จดเอาไว้. แล้วก็อาจจะชี้แจงกันได้. อันนี้ก็ค่อนข้างจะพูดมากเกินไปแล้ว. ก็คงพอสำหรับวันนี้. รู้สึกว่าท่านจะหิว. จะได้ไปย่อย เมื่อย่อยไปบ้างนิดหน่อยแล้ว
ก็ไปรับประทานอาหารต่อเพื่อที่จะให้ท่านสามารถทำงานต่อไป
เพราะว่าวันนี้เสียเวลาไปมากแล้ว ต่อไปท่านก็จะได้ทำงาน.
หวังว่าจะทำตามเรื่องของแก้มลิงนี่ให้สำเร็จ. ก็ขอบใจทุกท่านที่มา.
คัดลอกบทความด้วยน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องจากพระราชดำริ กรมชลประทาน
http://www.rid.go.th/royalproject/
คัดลอกบทความด้วยน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องจากพระราชดำริ กรมชลประทาน
http://www.rid.go.th/royalproject/