หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ และในวันที่
๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ทรงเปล่งปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
นั้น
ในปี
๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชกาล โดยเริ่มต้นจากประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม
อินโดนีเซีย และสหภาพพม่า พร้อมกันนั้นพระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ทั่วประเทศ
เพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมพระบารมี ในการนี้ก็ยังเป็นการเสด็จทรงงานของพระองค์เรื่อยมา
จนเป็นที่ทราบกันดีว่า การเสด็จไปยังถิ่นทุรกันดารทั่วทุกสารทิศในแว่นแคว้นนี้ เป็นการเสด็จทรงงานเพื่อแก้ไขความทุกข์ยากของพสกนิกรทั้งสิ้น
กล่าวสำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวนครศรีธรรมราชมากถึง
๑๖ ครั้ง โดยเสด็จเยี่ยมราษฎรชาวนครศรีธรรมราชเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๓ – ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรโดยเสด็จทางรถยนต์เข้าสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ที่อำเภอทุ่งสง ในครั้งนั้นได้เสด็จเยี่ยมราษฎรรวม ๔ อำเภอ
คือ อำเภอทุ่งสง อำเภอเมือง อำเภอพรหมคีรี
อำเภอร่อนพิบูลย์
ผู้เขียนขออัญเชิญเรื่องราว
“การเสด็จเยือนเมืองนคร” ๒
ครั้งแรกนั้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ
โดยเฉพาะอันเป็นที่มาซึ่งโครงการพระราชดำริที่ยังประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ชาว
เมืองนครศรีธรรมราช
และพื้นที่ใกล้เคียงในเวลาต่อมา นั่นคือ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในการเสด็จเยี่ยมพสกนิกรทางภาคใต้ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ ๖ – ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดทำขบวนรถไฟพระที่นั่งถวาย เสด็จออกจากสถานีหลวงจิตรลดา เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒ เวลา ๐๖.๐๕ น. ถึงสถานีชุมพร เวลา ๑๗.๒๐น. เสด็จเยี่ยมพสกนิกรจังหวัดชุมพร แล้วจึงได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกร ทางภาคใต้ด้วยรถยนต์พระที่นั่งไปยังจังหวัดต่างๆ อันได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แล้วจึงเสด็จกลับกรุงเทพมหานครด้วยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีตันหยงมัส จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒
เส้นทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ “เสด็จเมืองนคร ๒๕๐๒”
วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒ เวลา ๑๕.๓๙
น. รถยนต์พระที่นั่งเข้าสู่เขตจังหวัดนครศรีธรรมราชที่บ้านคลองปาง ตำบลกะปาง
อำเภอทุ่งสง
นายจันทร์ สมบูรณ์กุล
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระแสงศัสตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังพลับพลาหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งสง
นายเคลื่อน จิตสำเริง
นายอำเภอทุ่งสงนำเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ารอรับเสด็จ ณ ที่นั้นมีราษฎรชายผู้หนึ่งลุกขึ้นขอจับพระหัตถ์
และกราบบังคมทูลว่า ตนคิดถึงพระเจ้าอยู่หัวมาหลายวันแล้ว
เพิ่งได้เห็นและได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันนี้เอง นับเป็นบุญของตนยิ่งนัก
ใน
ขณะนั้นมีราษฎรกลุ่มหนึ่งนำหญิงชราอายุประมาณ ๑๓๐
ปีมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทักทายราษฎร
ผู้คนต่างก็ปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น จนเมื่อเวลา ๑๖.๕๕ น.
จึงเสด็จพระราชดำเนินออกจากอำเภอทุ่งสง เพื่อไปยังอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรในครั้งนั้นทั้งสองพระองค์ได้ประทับแรม
ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช
ในตอนค่ำได้มีราษฎรจำนวนมากกรูกันมาเกาะรั้วจวนผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และโห่ร้องถวายพระพร
ทั้งสองพระองค์ได้ออกมาโบกพระหัตถ์ที่ระเบียงจวนผู้ว่าฯ นับเป็นภาพอันตรึงตราตรึงใจของราษฎรที่เฝ้ารอรับเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายภาพราษฎรที่มาเข้าเฝ้า
ณ ที่นั้นด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง
วันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒ เวลา
๐๙.๐๐ น.เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่บริเวณวัดพระมหาธาตุฯ
ได้มีราษฎรพากันมาคอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ทั้ง
สองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเข้าวิหารพระมหาภิเนษกรมณ์
และเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่ลานประทักษิณ ทรงสุหร่ายสรงพระบรมธาตุเจดีย์
แล้วพระราชทานแพรสีชมพูซึ่งเป็นเสมือนผ้าพระบฏให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรี
ธรรมราชนำไปห่มพระบรมธาตุตามที่ประเพณีของชาวเมืองนครถือปฏิบัติกันมา
จากนั้นจึงถวายธูปเทียนแพ ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน และธูปเทียนนมัสการพระบรมธาตุ
แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระวิหารหลวง
ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย
ทรงประเคนผ้าไตรและย่ามแก่พระสงฆ์ ๒๐
รูป พระสงฆ์ออกไปครองผ้าเสร็จแล้วกลับเข้ามายังอาสนะเจริญพระพุทธมนต์
แล้วทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน
ในการนี้คณะพราหมณ์แห่งนครศรีธรรมราชได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ราษฎรชาวนครศรีธรรมราชมารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตลอดถนนราชดำเนิน
เวลา ๑๕.๓๐ น.
เสด็จพระราชดำเนินจากที่ประทับไปทรงวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์วีรไทย* ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิทหารผู้ประกอบวีรกรรมต่อต้านข้าศึกที่รุกรานแผ่นดินไทยเมื่อวันที่
๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ด้วยความกล้าหาญ
จากนั้นทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลมณฑลทหารบกที่
๕ **
แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมทหาร ณ
กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๕ ณ ที่นั้น ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๕
กราบบังคมทูลนำนายทหารและภริยาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นายทหารแล้วเสด็จพระราชดำเนินตรวจแถวทหาร
จากนั้นจึงเสวยพระสุธารสและทอดพระเนตรการแสดงรำถวายพระพร ครั้นเวลา ๑๖.๕๘ น. จึงเสด็จพระราชดำเนินจากค่ายวชิราวุธไปยังศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
และเสด็จพระราชดำเนินถึงหอพระพุทธสิหิงค์
แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับบนพลับพลาหน้าศาลากลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ณ ที่นั้น
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชกราบบังคมทูลนำข้าราชการและพ่อค้า
ประชาชนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบขอบใจในการต้อนรับกันอย่างพร้อมเพรียงที่ทำให้ทรงหายเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง
ทรงอ้างคุณพระบรมธาตุและพระพุทธสิหิงค์ให้ช่วยคุ้มครองประชาชนชาวนครศรีธรรมราชให้เจริญรุ่งเรืองตลอดกาล
จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมธาตุจำลอง
นายกเทศมนตรีทูลเกล้าถวายพระเครื่องซึ่งขุดได้จากเจดีย์ยักษ์ วัดพระเงิน
อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ในช่วงนั้นเองมีราษฎรผู้หนึ่งทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็ดซึ่งมี
๔ ขา ด้วยเห็นว่าเป็นของแปลก
วันอาทิตย์ ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒
เวลา ๑๐.๐๐ น.เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังน้ำตกพรหมโลก อำเภอเมือง
จังหวัดนครศรีธรรมราช*** ระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินได้ทรงหยุดรถยนต์พระที่นั่งที่ซุ้มของชาวไทยมุสลิม
ที่ชุมชนตลาดแขก
คณะกรรมการมัสยิดซอลาฮุดดินได้ทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินลงเหยียบมัสยิดซอลาฮุดดิน
เพื่อเป็นสิริมงคล ทรงไต่ถามทุกข์สุขชาวไทยมุสลิมที่เฝ้ารอรับเสด็จ
แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินต่อ
ก่อนถึงน้ำตกพรหมโลก
ซึ่งเป็นระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตรนั้น ต้องทรงเปลี่ยนรถยนต์พระที่นั่งเป็นรถจิ๊ปที่สามแยกบ้านตาล
เพราะถนนในช่วงนี้เป็นถนนดินซึ่งราษฎรชาวนครศรีธรรมราชได้ร่วมมือร่วมใจกันขุดถนนเป็นเวลาแรมเดือนเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย
โดยภายใต้การอำนวยการของนายศุภโชค พานิชวิทย์ นายอำเภอท่าศาลา
เมื่อถึงน้ำตกพรหมโลก
ทรงพักผ่อนอิริยาบถ ทอดพระเนตรความงดงามของน้ำตกพรหมโลกในเวลานั้นซึ่งมีความงดงามสุดที่จะหาคำมาพรรณนาได้
และก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทั้งสองพระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ
ภปร. และ สก.ไว้ที่หน้าผาข้างน้ำตกด้วย ยังเห็นอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้
วันจันทร์ที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒ เวลา
๐๘.๑๖ น. เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากที่ประทับ
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเสด็จไปยังอำเภอร่อนพิบูลย์ ระหว่างสองข้างทางได้มีราษฎรมาเฝ้ารอรับเสด็จและชื่นชมพระบารมีกันอย่างล้นหลาม
เสด็จถึงอำเภอร่อนพิบูลย์เวลา ๐๙.๑๕
น. ทรงเยี่ยมราษฎรอยู่ประมาณชั่วโมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินออกจากอำเภอร่อนพิบูลย์
เวลา ๑๐.๒๕ น.ไปยังจังหวัดตรังเป็นลำดับต่อไป
รวมระยะเวลาที่เสด็จประทับอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ๓ วัน
.................................................................................
พระบรมฉายาลักษณ์
ภาพพระราชกรณียกิจนี้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญมาเผยแพร่ได้ตามหนังสือสำนักพระราชวัง
ที่ พว ๐๐๐๑/๘๕๘ ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๘ เรื่อง
ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตฯ และ หนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๐๔.๓/๑๑๗๒๐ ลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๘ เรื่อง
พระราชทานพระบรมราชานุญาต
*อนุสาวรีย์วีรไทย สร้างเป็นอนุสรณ์สถานแก่วีรกรรมการต่อสู้ของทหารกล้า
เมื่อญี่ปุ่นได้ก่อสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ นั้นได้ยกพลขึ้นบกเข้าประเทศไทยทางภาคใต้
ได้แก่ จังหวัดปัตตานี สงขลา ชุมพร
ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช
ทุกจุดที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกต่างก็ถูกกำลังของกองทัพบกไทยต่อต้านอย่าง
เหนียวแน่นและทรหดเป็นที่สุด
ในบรรดาวีรกรรมนี้เป็นทหารในสังกัดมณฑลทหารบกที่ ๕ จังหวัดนครศรีธรรมราช
วีรกรรมครั้งนี้นับเป็นเกียรติประวัติของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่จะต้อง
ดำรงไว้อยู่ในประวัติศาสตร์อย่างไม่มีวันรู้เลือน
** ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ
เป็นโรงพยาบาลทหารในสังกัดและตั้งอยู่ภายในกองทัพภาคที่ ๔
*** ในเวลานั้นยังมีได้แยกเป็นอำเภอพรหมคีรี
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยและทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ให้อยู่ดีมีสุขมาโดยตลอดรัชกาลของพระองค์นั้น ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยและทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ให้อยู่ดีมีสุขมาโดยตลอดรัชกาลของพระองค์นั้น ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ข้อมูลอ้างอิง
คัดลอกข้อมูล
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช,
เสด็จเมืองนคร นครศรีธรรมราช นครอันงามสง่า แห่งพระราชผู้ทรงธรรม, ๒๕๔๙
บัณฑิต สุทธมุสิก, เมืองพระ :
ตามรอยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี,
สารนครศรีธรรมราช, ปีที่ ๔๐ ฉบับที่ ๙ เดือนกันยายน ๒๕๕๔, หน้า ๑๐-๑๘